ส่องภาวะเศรษฐกิจโลกผ่านกระจก 4 ด้าน

ภาพมติชน

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ขวัญใจ เตชเสนสกุล EXIM BANK

เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา ภายหลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 6 เดือน มาอยู่ที่ 3.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เกิดวิกฤต Hamburger ในปี 2552

ขณะเดียวกัน ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐ อายุ 10 ปี กับอายุ 2 ปี ซึ่งมักถูกนำมาใช้เป็นดัชนีบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ก็ปรับลดลงจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลในอดีต หากส่วนต่างดังกล่าวติดลบ (Bond Yield 2 ปี มากกว่า 10 ปี) หรือ Inverted yield curve มักเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในระยะถัดไป

นอกจากนี้ พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจในอีก 4 มิติที่จะสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป ได้แก่

ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ (economist survey) จัดทำโดย The Wall Street Journal ล่าสุดผลสำรวจเดือนเมษายนพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ประเมินโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 28% สูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งหากย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีต พบว่าหากผลสำรวจดังกล่าวเข้าใกล้ระดับ 30% จะถือเป็น trigger point สำคัญ โดยในช่วงเดือนกันยายน 2550 ผลสำรวจดังกล่าวเคยขยับขึ้นต่อเนื่องจนทะลุ 30% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีดังกล่าวในปี 2545 ซึ่งหลังจากนั้นอีก 12 เดือนในเดือนกันยายน 2551 ก็เกิดปัญหาซับไพรมขึ้นในสหรัฐ จนลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกในที่สุด

ดัชนี Economic Surprise Index (ESI) จัดทำโดย Citi Group ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงกับตัวเลขคาดการณ์ หากดัชนีดังกล่าวติดลบหมายถึงว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจริงแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ สะท้อนถึงโมเมนตัมและความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคตที่ไม่ค่อยสดใสนัก ล่าสุดพบว่าดัชนี ESI ของโลกเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี โดยเฉพาะค่าดัชนี ESI ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่ติดลบมากขึ้นต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จนมาอยู่ที่ระดับ -37 ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยค่าดัชนี ESI ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักติดลบมากขึ้นต่อเนื่องราว 1 ปีจนแตะระดับต่ำสุดที่ -101.8 ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นสหรัฐ มักมีวัฏจักร (life cycle) ราว 8-10 ปีในการปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดสู่จุดสูงสุด และหลังจากนั้นจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นทุกครั้ง สังเกตได้จากการที่ดัชนี S&P 500 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80% ของมูลค่ารวมของตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 586 จุดในปี 2533 ไปทำสถิติสูงสุดที่ 2,245 จุดในปี 2543 หลังจากนั้น ก็เกิดวิกฤตดอตคอมขึ้น และหลังจากนั้นอีกราว 8 ปีดัชนีดังกล่าวก็ทำสถิติสูงสุดอีกครั้งในช่วงปลายปี 2550 ก่อนเกิดวิกฤต Hamburger ในปี 2552 ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2562 ดัชนี S&P ก็ได้ปรับขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,945 จุด ครบ 10 ปีพอดีหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในปี 2552

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกของสหรัฐ ปัจจุบันกำลังเกิดสถานการณ์ที่ยอดค้าปลีกที่สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ขยายตัวต่ำกว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นก่อนเกิดวิกฤต Hamburger ที่ยอดค้าปลีกขยายตัวต่ำกว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องราว 12 เดือนเช่นเดียวกัน และตามมาด้วยการหดตัวอย่างรุนแรงในภาคการบริโภคและการผลิตของสหรัฐ

ข้อมูลข้างต้นมิได้จะชี้ชัดว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่เป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการนำมาใช้ติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญนอกเหนือจากตัวเลข GDP คาดการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เผยแพร่อยู่เป็นประจำ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้วางแผนและปรับกลยุทธ์ในการทำตลาด และป้องกันความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK