ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/6) ที่ระดับ 30.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 30.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังคงจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กล่าวว่า เขาจะเจรจาการค้ากับเจ้าหน้าที่จีน ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นอกรอบการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G20 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย. นอกจากนี้ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือน มิ.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้า, ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ค. 62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -5.79% จากตลาดคาด -5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.64% ดุลการค้า พ.ค. เกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.77-30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (24/6) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1380/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 1.1297/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับปัจจัยหนุนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.1 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 51.8 ในเดือน พ.ค. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1363-1.1395 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1391/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (24/6) เปิดตลาดที่ระดับ 107.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/6) ที่ระดับ 107.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.29-107.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.39/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน พ.ค. จากเฟดชิคาโก (24/6) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย.จากเฟดสาขาดัลลัส (24/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จาก Conference Board (25/6) ดัชนีการผลิตเดือน มิ.ย.จากเฟดสาขาริชมอนด์ (25/6) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ค. (26/6) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (27/6) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2562 (27/6) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน พ.ค. (28/6) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือน พ.ค. (28/6) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.45/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.1/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ