ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังนักลงทุนกังวลต่อนายกฯคนใหม่อังกฤษ

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/7) ที่ระดับ 30.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/7) ที่ระดับ 30.84/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศข้อตกลงระหว่างสภาคองเกรส และพรรคเดโมแครตในส่วนของงบประมาณปีนี้ออกมาแล้ว โดยได้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหากสภาคองเกรสสามารถผ่านกฎหมายฉบับใหม่ในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปิดที่ทำการรัฐบาลสหรัฐ หรือ Government เมื่อสิ้นสุดงบประมาณในวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้จำนวน 22 ล้านดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.86-30.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนีิ้ (23/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1198/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/7) ที่ระดับ 1.1215/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงิน
ยูโร รวมถึงค่าเงินปอนด์ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงนี้ หลังกดดันเมื่อนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงที่นายบอริส จอห์นสัน จะได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ทั้งนี้ นายจอห์นสัน ได้ประกาศว่าจะดำเนินการแยกตัวจากสหภาพยุโรปในเวลาเพียง 3 เดือน ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเช่นใด สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนว่ากระบวนการแยกตัวดังกล่าวจะจบลงแบบไม่มีข้อตกลงใด ๆ (No-Deal Brexit) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1181-1.1205 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1183/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (23/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.04/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/7) ที่ระดับ 107.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังถูกกดดันจากปัจจัยภายใน หลังนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่า BOJ จะพิจารณาการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม หากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลกนั้นส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.81-108.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.16/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตเดือน ก.ค. จากเฟดริชมอนด์ (23/7) ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ค. (23/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (24/7) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. (24/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/7) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน มิ.ย. (25/7) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 (26/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.2/1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment