สำนักงบฯ จัดกระสุน 4 แสนล้าน หนุนรัฐบาลกระตุ้น ศก.เร่งด่วนปลายปีนี้

สำนักงบฯประเมินรัฐบาลมีกระสุน 4 แสนล้านบาท แจงจากงบฯกลาง 1 แสนล้านบาท กับงบฯลงทุนที่คาดจะก่อหนี้ผูกพันไม่ทันอีกราว 3 แสนล้านบาท เตรียมชง ครม. 30 ก.ค. รับทราบ ชี้งบฯกลางเน้นรับมือภัยแล้งเป็นหลัก แนะแต่ละกระทรวงปรับงบฯดำเนินงาน-เน้นทำโครงการซ่อมแซม

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ก.ค.หลังแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว สำนักงบฯเตรียมนำเสนอข้อมูลและแนวทางเกี่ยวกับงบประมาณ ทั้งงบฯปี 2562 ที่เหลือการเบิกจ่ายอีก 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) การใช้งบฯไปพลางในช่วงที่งบฯปี 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงแนวทางการจัดทำงบฯ ปี 2563 เพื่อให้ ครม.ชุดใหม่ได้รับทราบสถานการณ์

“ผมจะเสนอ ครม.ให้ทราบว่าแนวทางบริหารจัดการงบประมาณปี 2562 ในช่วงที่เหลือจะเป็นอย่างไร เพราะต้องให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่ามีเงินเหลือจะทำตามนโยบายได้แค่ไหน อะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้ รวมถึงแนวทางการใช้งบฯไปพลางที่ส่วนนี้ต้องเสนอทางการอีกครั้งตอนต้นเดือน ก.ย. ส่วนงบฯ ปี 2563 ก็คงขอหารือว่าจะคงกรอบการจัดทำรายจ่ายไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาทหรือไม่” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสำนักงบฯ ประเมินว่าน่าจะมีงบฯปี 2562 ที่จะก่อหนี้ผูกพันไม่ทัน เหลืออยู่ราว 10% ซึ่งตกประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบฯลงทุน เนื่องจากประเมินว่าการเบิกจ่ายงบฯ ภาพรวม น่าจะทำได้ราว 90% โดยงบฯที่เหลือ 10% ดังกล่าวสามารถนำมาใช้ดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลได้ เพียงแต่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.เพื่อจะทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันได้ทันในสิ้น ก.ย. 2562

“ถ้าจะทำให้ทันคงต้องทำโครงการประเภทซ่อมแซม จะทำได้เร็วกว่าโครงการแบบสร้างใหม่ นอกจากนี้ คงต้องดูไส้ในงบฯแต่ละกระทรวง โดยหากเป็นงบฯดำเนินงานในส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ ตรงนี้แต่ละกระทรวงก็สามารถปรับเปลี่ยนกิจกรรม เปลี่ยนแผนการใช้งบฯทำได้เลย อย่างพวกเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ แต่ถ้าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ทั้งหมดที่แต่ละกระทรวงต้องใช้งบฯเป็นหมื่น ๆ ล้านบาทก็คงไม่พอ เพราะของแต่ละกระทรวงน่าจะเหลือแค่หลักพันล้านบาท ดังนั้น ก็ต้องโฟกัสว่าจะช่วยสวัสดิการส่วนไหนก่อน ไม่ใช่ทุกคนได้หมด” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

สำหรับงบฯกลางที่เหลือราว 1 แสนล้านบาท คงต้องเตรียมไว้รองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องดูไม่ให้โครงการซ้ำซ้อนกับการจ่ายประกันที่มีอยู่แล้ว โดยงบฯกลางนี้หากจะมีการใช้ทำมาตรการอื่นก็ต้องอธิบายได้ถึงความฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ ซึ่งต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติ ทั้งนี้ มาตรการที่ทำได้น่าจะเป็นมาตรการพักชำระหนี้หรือการจัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเร่งด่วนให้ผู้ประสบภัยแล้ง เป็นต้น

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวด้วยว่า สำหรับงบฯปี 2563 จะหารือกับกระทรวงการคลังก่อนว่า กรอบรายจ่ายที่ 3.2 ล้านล้านบาท และกรอบการขาดดุลที่ 4.5 แสนล้านบาท จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ หากปรับก็ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ แต่หากไม่ปรับกรอบดังกล่าวก็เน้นปรับไส้ในของแต่ละกระทรวง จะทำให้สามารถเดินหน้าจัดทำงบฯได้เร็ว