ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จับตาดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์ (22/7) ที่ระดับ 30.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 30.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากมีความเห็นเชิงบวกจากประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาต่าง ๆ โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค. แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้ไม่ได้หมายความว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงต่อไปในอนาคต ในขณะที่นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตันคัดค้านการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมของเฟดในปลายเดือนนี้ โดยระบุว่าเศรษฐกิจสหรับไม่ต้องการมาตรการหนุนในลักษณะเดียวกับที่อีกหลายประเทศอาจต้องการ อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศข้อตกลงระหว่างสภาคองเกรส และพรรคเดโมแครตในส่วนของงบประมาณปีนี้ออกมาแล้ว โดยได้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหากสภาคองเกรสสามารถผ่านกฎหมายฉบับใหม่ในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ได้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการปิดที่ทำการรัฐบาลสหรัฐ หรือ Government Shutdown เมื่อสิ้นสุดงบประมาณในวันที่ 30 กันยายนนี้

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง โดยมีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าทุนที่ผลิตในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือน มิ.ย. ขณะทีี่ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐปรับตัวลง 10,000 ราย สู่ 206,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่กลางเดือน เม.ย. นอกจากนี้นักลงทุนยังรอติดตามตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ (จีดีพี) ที่จะประกาศออกมาในคืนวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเติบโตเพียง 1.8% ในไตรมาส 2 โดยชะลอตัวลงจากอัตรา 3.1% ในไตรมาสแรก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มิ.ย. 62 โดยระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,409.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.15% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,197.10 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -9.44 ดุลการค้า มิ.ย. เกินดุล 3,212 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 122,970.70 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.91% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 119,027.40 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.41% ดุลการค้า เกินดุล 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ มูดี้ส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิสได้ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยสู่ “เชิงบวก” จาก “มีเสถียภาพ” ในวันที่ 25 ก.ค. และคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในฐานะผู้ออกตราสารหนี้ที่ Baal โดยไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลผสมของไทยประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีความแตกต่างกัน และยังคงมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง  30.80-31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 30.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (22/7) ที่ระดับ 1.1213/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 1.1236/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน โดยไอเอชเอส มาร์กิต ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อ (PMI) คอมโพสิตขั้นต้นของประเทศเยอรมนีในเดือน ก.ค. ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยที่ดัชนีสำหรับภาคการผลิตอยู่ที่ 43.1 และภาคบริการอยู่ที่ 55.4 ขณะที่ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 51.5 ในเดือน กรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อีกทั้งสถาบัน Ifo เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีลดลงสู่ระดับ 95.7 ในเดือน ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2556 โดยดิ่งลงจาก 97.5 ในเดือน มิ.ย.

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ นักลงทุนเข้าซื้อยูโรหลังจากธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) คงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม อีกทั้งนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบีแสดงความเห็นในทางบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซนในระดับที่มากเกินคาด และถ้อยแถลงของเขาทำให้นักลงทุนคาดว่า อีซีบีจะยังไม่เข้าสู่วัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายระยะยาว ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.110-1.1225 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 1.1138/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (22/7) ที่ระดับ 107.92/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 107.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากถูกกดดันจากปัจจัยภายใน โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่า BOJ จะพิจารณาการใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม หากความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของญี่ปุ่น

ทั้งนี้นักลงทุนจับตามองถ้อยแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะมีการประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินใดเพิ่มเติมหรือไม่ในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในช่วงสัปดาห์หน้า (29-30 กรกฎาคม) อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลียังคงไม่ชัดเจน ล่าสุดกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ได้ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการเพื่อเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยกเลิกแผนการที่จะควบคุมการส่งออกสินค้า และเรียกร้องให้ญีี่ปุ่นยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกที่มีผลบังคับใช้อยู่ในทันที ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 107.69-108.75 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 108.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ