ดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ นักลงทุนจับตาการประชุมของเฟด

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ
ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมของเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 30.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 30.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากระดับเดิมที่ร้อยละ 2.25-2.50 ลงมาเป็นร้อยละ 2.00-2.25

นอกจากนี้ นักลงทุนกำลังจับตาดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนซึ่งล่าสุดมีความตึงเครียดมากขึ้น หลังเมื่อวาน (30/7) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์เพื่อโจมตีรัฐบาลจีนโดยกล่าวว่า รัฐบาลจีนไม่ได้สั่งซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐ ตามที่ได้เคยสัญญากันไว้และมีความตั้งใจจะถ่วงเวลาให้การเจรจาทางการค้ายืดเยื้อออกไป เพื่อที่จะรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า (2563) เพื่อดูว่า นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือไม่ ซึ่งถ้านายไบเดนชนะ จีนจะทำข้อตกลงเหมือนอย่างทีี่เคยทำมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่หากนายทรัมป์ชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 จีนจะต้องเผชิญกับการทำข้อตกลงที่ยากลำบากกว่าที่สหรัฐและจีนกำลังเจรจากันในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวาน (30/7) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาที่ 135.7 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 125.0 นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้รายงานว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐ ในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เท่ากับระดับที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.74-30.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 1.1150/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 1.1146/48 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังมีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบรายเดือน มากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ระหว่างวันมีรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของฝรั่งเศสออกมาปรับตัวลดลงร้อยละ 0.2 ลดน้อยกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงร้อยละ 0.3 อีกทั้งมีรายงานยอดค้าปลีกของเยอรมนีประจำเดือน กรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5

สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหภาพยุโรปนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราการว่างงานประจำเดือนมิถุนายนของสหภาพยุโรปออกมาที่ร้อยละ 7.5 เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1141-1.1162 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1146/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/7) ที่ระดับ 108.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 108.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
เคลื่อนไหวในกรอบแคบขณะที่นักลงทุนจับตาดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันมีรายงานยอดการสร้างบ้านใหม่ประจำเดือนมิถุนายนของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.48-108.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมจาก ADP (31/7) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงลงมติอัตราดอกเบี้ย (31/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมจากมาร์กิต (1/8) ตัวเลขจ้างงานนออกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคม (2/8) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมิถุนายน (2/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.40/-2.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.50/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ