โซนอันตรายเศรษฐกิจขาลง หวั่นซ้ำรอยญี่ปุ่นเงินฝืด-สังคมสูงวัย

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กูรูเศรษฐศาสตร์ห่วงจีดีพีไทยดิ่งแรง แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้านทำได้แค่ “ยัน” ไม่ให้จีดีพีทรุดต่อปีหน้าเจอโจทย์ใหญ่เสี่ยง “เศรษฐกิจโลกถดถอย” เผย 5 ประเทศยักษ์จีดีพีมากกว่าครึ่งโลกกำลังเข้าสู่โซนอันตราย หวั่นไทยซ้ำรอยญี่ปุ่นเจอปัญหา “สังคมสูงวัย+ภาวะเงินฝืด” เศรษฐกิจถูกแช่แข็ง หนุนตั้งคณะกรรมการร่วมนโยบายการเงินการคลังแก้ปม “บาทแข็ง”

 

แพ็กเกจรัฐแค่ “ยัน” ระยะสั้น

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KPP) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของประเทศ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้านบาทของรัฐบาลว่า มาตรการที่ออก แค่ช่วย “ยัน” ไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ ยังไม่สามารถทำให้ “ฟื้น” ได้

โดยมาตรการเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนจนกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากส่งออกและภัยแล้ง เม็ดเงินที่รัฐบาลใส่เข้าไปจริง ๆ ก็คือโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรปลูกข้าว 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่/คน ซึ่งจะได้รับคนละ 10,000 บาท ใช้งบประมาณรวม 30,000 ล้านบาท

“วงเงินใหญ่ที่สุดของแพ็กเกจนี้เป็นมาตรการเงินกู้วงเงิน 50,000 ล้านบาท สินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ย 0% ปีแรก ปีต่อไปคิด 7% และสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายอีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งให้ชาวนามีหนี้มากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อให้รอดจากตอนนี้ไปก่อน ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ส่วนอื่น ๆ ก็คล้ายกัน เช่น ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาอีก 20,000 ล้านบาท และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้อีก 30,000 ล้านบาท รวมถึงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน 1 ปี”

Advertisment

ดร.ศุภวุฒิระบุว่า มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการใส่เงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ทั้งคนจนและคนแก่แต่ก็คือ 2 เดือนคือ ส.ค.-ก.ย. เพื่อเป็นการ “ยัน” เศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการด้านการท่องเที่ยว “ชิม ช็อป ใช้” จะช่วยยันเศรษฐกิจช่วง ก.ย.-พ.ย. โดยผู้ที่ร่วมมาตรการ 10 ล้านคนจะได้รับเงิน 1,000 บาท และรัฐบาลคาดว่าคนกลุ่มนี้จะมีการไปใช้จ่ายเงินทั่วประเทศ รวม 70,000 ล้านบาท เพื่อจะมาใช้สิทธิ์ขอเงินคืน (รีเบต) 15% จากรัฐบาล

“มาตรการชิม-ช็อป-ใช้ อาจจะใช้ไม่ถึง 70,000 เมื่อรวมกับเงินบัตรสวัสดิการ 20,000 ล้านบาท ก็จะมี 90,000 ล้านบาท ที่เป็นเงินที่จะยันเศรษฐกิจจริง ๆ ถามว่า เยอะไหม ในช่วง 4 เดือน ก็ถือว่าเยอะเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม 70% ของจีดีพีไทย มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ดังนั้นหาก 2 ส่วนนี้ไม่ฟื้น ภาพรวมก็คงไม่ดีขึ้น ส่วนรายจ่ายภาครัฐมีแค่ 20% ของจีดีพีเท่านั้น หวังกำลังซื้อในประเทศก็ลำบาก

Advertisment

จีดีพีลงแรง-5 ปีบาทแข็ง 14%

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ตอนนี้แนวโน้มจีดีพีกำลังไหลลงค่อนข้างแรง จากช่วงครึ่งแรกปี 2561 ขยายตัว 4.8% ครึ่งหลัง 2561 ขยายตัว 3.4% และครึ่งแรกปี 2562 มาอยู่ที่ 2.6% สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นโยบายการเงินจะทำอย่างไรต่อไป เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจเริ่มไหลลงแล้ว ซึ่งมองได้ว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ผิดจังหวะ จึงไม่แปลกใจที่เห็นรัฐบาลพยายามจะตั้งคณะกรรมการร่วมนโยบายการเงินการคลัง และน่าจะจำเป็นสำหรับช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลงเช่นนี้ เนื่องจากนโยบายการเงินการคลังควรจะต้องช่วยกันยันเศรษฐกิจ

“การขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลต่อเศรษฐกิจให้หลังประมาณ 12 เดือน ดังนั้นการที่รัฐบาลกระตุ้นไปแทบตาย แต่การที่ขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กำลังจะมีผลลบต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพยายามตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อมาดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ” ดร.ศุภวุฒิกล่าวและว่า

การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมาทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าแล้วประมาณ 13-14% เฉพาะการส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการที่บาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท ทำให้รายได้ส่งออกหายไป 2.4 แสนล้านบาท ตรงนี้มีนัยสำคัญ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามใส่เงินเข้าไปในระบบ 3 แสนล้านบาท ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะจีดีพีประเทศไทยมาจากการส่งออกสินค้าและท่องเที่ยว 70% การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าก็หวังผลยากขึ้น

ห่วงซ้ำรอยญี่ปุ่น “เงินฝืด สูงวัย”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่จีนมีแนวโน้มบริหารให้เงินหยวนอ่อนค่าลง เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ ซึ่งก็ส่งผลกระทบกับไทยด้วย แต่ยังดีที่จีนจะค่อย ๆ ให้เงินหยวนอ่อนค่า เพราะไม่ให้คนจีนตื่นตระหนกแห่ขนเงินออกนอกประเทศ

ในภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากอย่างตอนนี้ คณะกรรมการร่วมก็ต้องหารือชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงมาก กับสิ่งที่ ธปท.กังวลอย่างเรื่องการแสวงหาผลตอบแทนสูงในภาวะดอกเบี้ยต่ำ (search for yield) ประเด็นไหนน่ากังวลกว่ากัน และต้องดูเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าตลอด ซึ่งกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อต่ำจะเหมือนกับญี่ปุ่นที่นำไปสู่ภาวะเงินฝืด จึงทำให้จีดีพีญี่ปุ่นในดอลลาร์เทอมไม่โตมา 20 ปีแล้ว ภาวะเช่นนี้คนทำธุรกิจจะลำบาก เนื่องจากยอดขายไม่โต

“ญี่ปุ่นมีปัญหาจีดีพีไม่โต ยอดขายธุรกิจไม่โตมา 20 ปีแล้ว เพราะมีปัญหาทั้งนโยบายการเงิน และประชากรสูงวัยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไทยก็กำลังจะไปสู่จุดนั้น ขณะที่ ธปท.บอกว่าเงินเฟ้อต่ำเกิดจากอีคอมเมิร์ซเข้ามาทำให้ต้นทุนธุรกิจต่ำลง แถม ธปท.จะไปแก้เป้าหมายเงินเฟ้อด้วย เหมือนทำข้อสอบไม่ได้ เลยจะแก้ข้อสอบ ทั้งที่เทรนด์อีคอมเมิร์ซไม่เกิดเฉพาะไทย สหรัฐอเมริกาทำอีคอมเมิร์ซมากกว่าไทยอีก ทำไมเงินเฟ้อยังสูงกว่า ซึ่ง ธปท.ก็มีแนวคิดของเขา ก็ต้องคุยกันให้ตกผลึกในคณะกรรมการร่วม”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า การที่เงินเฟ้อต่ำใกล้ศูนย์ ทำให้มูลค่าหนี้ไม่ลดลง เพราะเงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าลงของเงิน ดังนั้นจึงควรบริหารให้มีอัตราเงินเฟ้อระดับหนึ่ง เพื่อช่วยลดหนี้ในระยะยาว รวมถึงจะช่วยให้ผู้ประกอบการทำยอดขายให้เติบโตได้มากขึ้น

“ถ้าจีดีพีไม่โต แล้วเงินเฟ้อเป็นศูนย์แบบญี่ปุ่นภาระหนี้ก็จะเท่าเดิม ผู้ประกอบการจะเหนื่อยมาก ๆ นอกจากนี้การที่เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าประเทศอื่น อย่างสหรัฐเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ส่วนเงินเฟ้อของไทย 1% ระยะยาวเงินบาทของไทยก็ต้องแข็งค่าขึ้น 1% ด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งผู้ส่งออกไทยก็ยิ่งเหนื่อย และจะไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า”

5 ประเทศ ศก.ใหญ่กำลังแย่

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่เกิดความกังวลกันเรื่องผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าพันธบัตรระยะสั้น (inverted yield curve) ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเป็นสัญญาณที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแรงที่สุดในโลกแล้ว ขณะที่ก่อนหน้านี้ เจอโรม พาวเวอร์ ประธานเฟด ระบุถึงการปรับลดดอกเบี้ยว่าเป็นเพราะกังวลเศรษฐกิจโลก

“ก็ต้องคิดดูว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการส่งออกแค่กว่า 10% ของจีดีพีเท่านั้น เขายังกลัว แต่ของเราส่งออกสินค้าตั้ง 50% ของจีดีพี รวมบริการท่องเที่ยวใกล้ ๆ 70% ก็ต้องระวัง เพราะถ้าส่งออกหายไป 1% จีดีพีก็จะหายไป 0.5% แล้ว ดังนั้นการที่อัดมาตรการกระตุ้น พอเจอตัวเลขส่งออกหายไปก็เจ๊าเลย” นายศุภวุฒิกล่าว

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศในโลกกำลังแย่ โดยเฉพาะ 5 ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ซึ่งครองจีดีพีมากกว่าครึ่งของโลกกำลังมีปัญหา ตั้งแต่สหรัฐ, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี และอังกฤษ และตนก็มีความกังวลว่ากลางปีหน้า (2020) มีความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะการถดถอย เพราะปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่เป็นมากกว่าสงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก

“เศรษฐกิจสหรัฐกับจีนที่เป็นอันดับ 1-2 ของโลกกำลังมีปัญหา เศรษฐกิจญี่ปุ่นอันดับ 3 ก็ทะเลาะกับเกาหลีใต้ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สุดในโลก ขณะที่เยอรมนี เศรษฐกิจอันดับ 4 ก็เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว อังกฤษก็เดี้ยง มีปัญหาที่จะต้องออกจากอียูที่เกรงว่าจะเป็นฮาร์ดเบร็กซิต เรียกว่าท็อป 5 เศรษฐกิจโลกมีปัญหาหมด ซึ่งจีดีพีของประเทศเหล่านี้รวมกันก็ประมาณ 45.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เกินกว่าครึ่งของจีดีพีโลก (80 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ดังนั้นจึงยาก ถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะดูดี” นายศุภวุฒิกล่าว

ทั่วโลกชะลอการลงทุนระยะสั้น 

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มชะลอการลงทุนในระยะสั้นไว้ก่อน เพื่อรอดูความชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกไม่โต และประเทศไทยที่หวังจากดึงการลงทุนจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีการพูดถึงโอกาสการย้ายฐานการผลิตจากจีน

แต่ปัญหาคือเวลานี้ประเทศไทยมีข้อดีอะไรที่จะดึงดูดการลงทุนมาได้ เพราะ “แรงงาน” ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน พบว่าประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 20-60 ปี ผ่านระดับสูงสุดมาตั้งแต่ปี 2013 คือไม่เติบโตแล้วและกำลังลดลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันประชากรวัยทำงานของไทยมีประมาณ 40 ล้านคน และอีก 20 ปีข้างหน้า (2040) คาดว่าจะหายไปประมาณ 8 ล้านคน เหลือเพียง 32.5 ล้านคน

นอกจากนี้ประชากรไทยโดยรวมจะถึงจุดสูงสุดประมาณปี 2030 หมายถึงกำลังซื้อในประเทศก็จะไม่โตในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า การผลิตสินค้าเพิ่มก็ขายในประเทศไม่ได้ นอกจากนี้ปัญหาเรื่องแหล่งพลังงานซึ่งปัจจุบันแหล่งก๊าซธรรมชาติก็ใกล้จะหมด ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่เป็นความหวังของรัฐบาล ก็ยังมองว่าไม่มีอะไรใหม่เป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดภาค 2 ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จริง ๆ คือสนามบินอู่ตะเภา และการลงทุนโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ลดความแออัดของการเดินทาง ซึ่งก็เป็นภาคการท่องเที่ยว หรือภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าเปิดประมูลแล้วจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญา และก็ยังมีความเสี่ยงที่โครงการจะขาดทุนสูง

“จุดแข็ง-จุดอ่อน” ประเทศไทย

ดร.ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงจะต้องมีแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก แต่ก็จะยังคงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนเดิม ซึ่งยอมรับว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก โดยตนได้วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อนของไทย ด้วยการทำวิเคราะห์ SWOT ออกจุดแข็งของไทย 5 ประเด็น คือ ฐานผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร, การท่องเที่ยว, ฐานผลิตอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างกว้างหลากหลายเซ็กเตอร์ และทางสังคมค่อนข้างสมานฉันท์มากกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องทำเลที่ตั้งของประเทศที่ดี ล้อมรอบประเทศกำลังเติบโต

จุดอ่อนมี 3 ด้านหลัก ได้แก่ ประชากรสูงวัย ปัจจุบันสัดส่วนคนทำงานต่อคนสูงอายุ 3 : 1 แต่ปี 2040 จะเปลี่ยนเป็น 1.5 : 1 คน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่และปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังไม่เห็นการวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน, ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดลง ต้องพึ่งพาการนำเข้า และระบบการเมืองไทยที่ถูกออกแบบมาให้อ่อนแอ

ด้านโอกาสมองว่า สามารถอัพเกรดการท่องเที่ยวไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูง เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จับกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงหนีหนาวมาพักเมืองไทย 3 เดือน กินอยู่อย่างมีคุณภาพ อาหารออร์แกนิก หรือมาเข้าคอร์สตรวจสุขภาพอยู่ยาว เป็นต้น และต้องดูว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสอะไรบ้าง ซึ่งต้องพยายามหาโอกาสให้ได้ โดยนโยบายเศรษฐกิจต้องเข้าไป plug in ให้นักธุรกิจรุ่นใหม่รู้จักและขายของในตลาดโลกมากขึ้น

ส่วนความท้าทายที่จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาก็คือ การทะเลาะกันระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งไม่ใช่แค่สงครามการค้า แต่จะเป็นสงครามเย็น ที่มีปัญหาความขัดแย้งทั้งในเรื่องการเมืองและความมั่นคงเพื่อแย่งชิงการเป็นมหาอำนาจโลก, การที่คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่มีจุดแข็งเรื่องประชากร 80 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานทำให้ดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมามีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน บริษัทจำนวนมากเลือกไปลงทุนที่เวียดนาม และอีกประเด็นความท้าทายของไทยคือ การมาของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะกระทบอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทยอย่างมาก

“ผมมองว่าทางเลือกของประเทศไทยในอนาคตไม่น่าจะเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม แต่ต้องไปทำภาคบริการที่มูลค่าเพิ่มมากกว่า” นายศุภวุฒิกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!