แก้สัญญาร่วมทุนทางด่วนฉลุย บอร์ด PPP ให้การทางพิเศษเดินหน้า

บอร์ด PPP ไฟเขียว กทพ. แก้สัญญาร่วมทุนทางด่วนได้ ตีความท่าเทียบเรือมาบตาพุดต้องร่วมทุน PPP ส่วน “เน็ตประชารัฐโครงข่ายแบบเปิด-พัฒนาอาคารกลุ่ม L สยามสแควร์” ไม่เข้าข่ายร่วมลงทุน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2562 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีการวินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่ กรณีแรก กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีสัญญาฉบับหนึ่งที่จะสิ้นสุดในปี 2563 และไม่ได้ดำเนินการแก้ก่อนสัญญาจะสิ้นสุดใน 5 ปี จึงขอให้ทางบอร์ด PPP วินิจฉัย ว่าทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ บอร์ดได้วินิจฉัยว่าสามารถแก้ไขสัญญาดังกล่าวได้

โดยทางอัยการสูงสุดให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การแก้ไขสัญญาไม่เกี่ยวข้องกับกรอบระยะเวลาการที่จะทำสัญญาใหม่ จึงวินิจฉัยว่า การแก้ไขสัญญาสามารถกระทำได้ หากสัญญายังไม่สิ้นสุดลง

“ก่อนหน้านี้ มีข้อสังเกตว่า การที่มีการแก้ไขสัญญา แต่เนื่องจากสัญญาที่มีการแก้ไขนั้นมีอยู่ฉบับหนึ่ง ซึ่งจะหมดสัญญาปี 2563 แต่ไม่ได้มีการดำเนินการก่อนสัญญาสิ้นสุดลง 5 ปี จึงเป็นปัญหาว่าการแก้ไขสัญญาจะกระทำได้หรือไม่ จึงนำเข้าสู่คณะกรรมการ PPP ในวันนี้ โดยขอบเขตในการนำเรียนนั้นเป็นเรื่องของการแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสม ระยะเวลา หรือรายละเอียด ผลประโยชน์ต่าง ๆ คณะกรรมการชุดนี้เพียงแต่มีการวินิจฉัยว่าสามารถที่กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายประภาสกล่าว

นายประภาศ กล่าวอีกว่า โครงการต่อมา บอร์ด PPP วินิจฉัยกรณีโครงการท่าเทียบเรือ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งมีปัญหาว่า เนื่องจากท่าเรือดังกล่าวเป็นท่าเทียบเรือเฉพาะ จะถือเป็นการให้บริการสาธารณะตามกฎหมาย PPP หรือไม่ ซึ่ง บอร์ด มีความเห็นว่า เมื่อกิจการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ กนอ. จึงต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือเอกชนหรือท่าเทียบเรือสาธารณะ หากมีการให้เอกชนร่วมลงทุนก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.PPP

ต่อมาโครงการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีการวินิจฉัยว่า เนื่องจากการที่เอกชนเข้ามาร่วมโดยได้รับอนุญาตจาก กระทรวงดีอี และจะต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิ หรือมีใบอนุญาตประกอบกิจการจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น จึงไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุน

Advertisment

เช่นเดียวกับการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน เนื่องจากไม่ใช่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ