ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่ตลาดรอความชัดเจนของสงครามการค้าและ Brexit

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 30.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (28/8) ที่ระดับ 30.61/63 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์เคลืื่อนไหวในกรอบแคบขณะที่นักลงทุนยังจับตาดูสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน โดยล่าสุดเมื่อคืนวาน (28/8) นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้กล่าวว่า สหรัฐและจีนยังต้องเจรจาร่วมกัน และทางสหรัฐกำลังวางแผนที่จะเชิญคณะผู้แทนทางการค้าของจีนให้เดินทางมายังกรุงวอชิงตัน

อย่างไรก็ดี นายมนูชินไม่ได้แถลงอย่างเจาะจงว่า การเจรจาทางการค้ารอบถัดไปจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่ อีกทั้งนายมนูชินกล่าวว่าตัวเขาได้ให้เหตุผลชี้แจงกับนายอี้ กัง ผู้ว่การธนาคารกลางจีน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และบรรดาประเทศคู่ค้าของจีน ในประเด็นที่กระทรวงการคลังสหรัฐได้แถลงการณ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าประเทศจีนปั่นค่าเงินและแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราโดยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าและส่งออกให้แก่ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้มุ่งความสนใจไปที่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของทั้งสหรัฐและจีน ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายนนี้ โดยทั้งสองฝ่ายจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน โดยทางสหรัฐจะเรียกเก็บภาษีร้อยละ 15 ต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนจะประกาศเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 5 ถึง 10 ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐบนวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเก็บภาษี 2 รอบซึ่งการปรับขึ้นรอบที่ 2 ของจีนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลืื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30-60-30.64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 1.1087/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/8) ที่ระดับ 1.1088/90 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบขณะที่นักลงทุนยังรอความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับ Brexit หลังเมื่อวาน (28/8) นาย
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ใช้แผนจำกัดการประชุมรัฐสภาอังกฤษด้วยความหวังที่จะผลักดันให้สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 31 ตุลาคม โดยก่อนหน้านี้ สมาชิกรัฐสภาอังกฤษมีกำหนดกลับเข้าประชุมสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งการประชุมจะเกิดขึ้นไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน ก่อนที่จะมีการพักสมัยประชุมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อให้พรรคการเมืองต่าง ๆ จัดการประชุมภายในพรรค แต่การดำเนินการของนายจอห์นสันในครั้งนี้ได้ทำให้การพักสมัยประชุมสภายาวนานขึ้นเป็น 5 สัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปิดรัฐสภาอังกฤษเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทำให้รัฐสภามีเวลาน้อยลงในการออกกฎหมายเพื่อสกัดความพยายามของนายจอห์นสันในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลงตามกำหนดการเดิม (31/10)

นกจากนี้ ระหว่างวัน (29/8) มีรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฝรั่งเศสในช่วงไตรมาสที่ 2 ออกมาที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส ซึ่งมากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะออกมาที่ร้อยละ 0.2 อีกทั้งมีรายงานอัตราการว่างงานของเยอรมนีประจำเดือนสิงหาคมออกมาอยู่ที่ ร้อยละ 5.0 เท่ากับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทั้งนี่้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลืื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1068-1.1087 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1076/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/8) ที่ระดับ 105.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (28/8) ที่ระดับ 105.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
อ่อนค่าลงขณะที่นักลงทุนยังจับตารอดูสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.82-106.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.23/25
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (29/8) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ ไตรมาส 2/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2 (29/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของเยอรมนี (29/8) ดัชนีราคาการใช้จ่ายส่วนบุคคล เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (30/8) การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (30/8) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (30/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคมของยูโรโซน (30/8) ดัชนียอดขายปลีกเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (30/8) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมของญี่ปุ่น (30/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.70/-2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.15/0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ