ผู้จัดการ ตลท.ชู 2 บทบาทสร้างภูมิคุ้มกันคนไทย โชว์ตลาดเป็นฟันเฟืองหนุน ปชช.มีความรู้การเงิน-สร้างคุณภาพ บจ.

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “บทบาทตลาดทุนสร้างภูมิคุ้มกันสังคม ยกระดับสังคมยั่งยืน” ภายในงานสัมมนา “แนวพระราชดำริ ภูมิคุ้มกันสังคม วัคซีนธุรกิจยั่งยืน” ลดเหลื่อมล้ำ หนุนเศรษฐกิจฐานราก จากเหนือจดชายแดนใต้ ว่า ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ดังนั้นการดูแลและรับผิดชอบสังคมไทยจึงถือเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะขอนำเสนอ 2 บทบาทสำคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

บทบาทแรกคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนให้มีความรู้ทางการเงิน และความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันอันแรกที่สำคัญ ที่จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมของประเทศก้าวผ่านพ้นกับดักความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้

และบทบาทที่สองคือ การสร้างภูมิคุ้มกันและการสร้างคุณภาพให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยการยกระดับการกำกับกิจการดูแลที่ดี ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้พัฒนามาสู่การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมรวมเป็น ESG ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย
“2 บทบาทนี้เป็นบทบาทสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกัน และสามารถที่จะพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำธุรกรรมในทางการเงิน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย” นายภากรกล่าว

ทุกภาคส่วนต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เหมือนกันการต่อจิ๊กชอว์ในการผสานพลังจากจุดเล็กๆ ในระบบเศรษฐกิจเพื่อมเชื่อมต่อและร้อยเรียงเข้าสู่ภาพใหญ่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

โดยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เรื่องการมีความรู้ ความสามารถทางการเงิน เนื่องจากการมีความรู้ทางการเงินมีความสำคัญมาก และจะมีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง โดยรายงานข้อมูลจากแบงก์ชาติระบุว่า

“หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 25% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 53.5% ของจีดีพี ขึ้นเป็น 78.6% ของจีดีพีของปี 2561 ซึ่งหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลี ยิ่งไปกว่านั้นจากข้อมูลพบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อยลง มีหนี้มากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นหนี้ไม่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าทุกคนยังออมเงินเหมือนเดิมโอกาสที่จะเกษยีณ และมีความสามารถในการใช้ชีวิตเป็นอยู่ที่ดีหลังจากการเกษียณคงจะยากขึ้นอย่างมาก ดังนั้นการมีความรู้ทางการเงินในการบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องคำนึงถึง

“ส่วนใหญ่หนี้จำนวนประมาณ 40-50% เป็นหนี้ระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ ในขณะที่หนี้บ้าน (อสังหาริมทรัพย์) ซึ่งเป็นการกู้หนี้เพื่อไปซื้อบ้านเป็นระยะยาว กลับมีสัดส่วนเพียงแค่ 33% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด” นายภากรกล่าว