“AWC” หุ้นเจ้าสัวเจริญเขย่า SET นักลงทุนปรับพอร์ตกำเงินจอง IPO

จับตาหุ้นใหญ่ AWC ของเจ้าสัวเจริญเขย่าตลาดหุ้น เปิดขายหุ้นไอพีโอระดมทุน 4.8 หมื่นล้าน กองทุน-นักลงทุนสถาบันเร่งปรับพอร์ตเตรียมหอบเงินซื้อหุ้นเจ้าสัว ขณะที่มาร์เก็ตแคป 1.92 แสนล้าน ผ่านเกณฑ์ติด SET50 อัตโนมัติ เผย GIC กองทุนสิงคโปร์จองสูงสุด 9 พันล้านบาท นักวิเคราะห์ชี้ไอพีโอ 6 บาท เป็น “ราคาอนาคต” วงในเผยระดมทุนใช้หนี้แบงก์ เลิกจ่ายดอกเบี้ยมาจ่ายปันผลนักลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เป็นหุ้นน้องใหม่ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”ภายใต้การบริหารของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวคนที่สองของเจ้าสัวเจริญ เตรียมเปิดให้ประชาชนจองซื้อหุ้นสามัญเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) วันที่ 25-27 กันยายนนี้ และให้ผู้ลงทุนสถาบัน และต่างประเทศจองซื้อระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2562 ด้วยราคาไอพีโอ 6 บาทต่อหุ้น ทำให้ AWC คาดว่าจะมีมาร์เก็ตแคป ณ วันเข้าซื้อในตลาดถึง 1.92 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ AWC เปิดให้นักลงทุนจองซื้อหุ้นไอพีโอ 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 41,742 ล้านบาท หากรวมในส่วนการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู ออปชั่น) อีก 1,043 ล้านหุ้น รวมเป็น 8,000 ล้านหุ้น จะเป็นการระดมทุนมากถึง 48,000 ล้านบาท

หุ้นใหญ่-กำไรบาง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลงบการเงินของบริษัท ณ มิ.ย. 2562 ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 92,350.91 ล้านบาท หนี้สินรวม 67,008.52 ล้านบาท และปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 12,415.64 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่เพียง 489 ล้านบาท

สำหรับสินทรัพย์หลักของบริษัท ประกอบด้วย โรงแรมและบริการสัดส่วนรายได้ 61% ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงแรมแบรนด์ชั้นนำ อาทิ แมริออท,โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน กลุ่มอาคารสำนักงาน 23% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า อาทิ โครงการเอเชียทีค, เกตเวย์ แอท บางซื่อ เป็นต้น สัดส่วนรายได้ 16%แม้รายได้หลักจะมาจากธุรกิจโรงแรม แต่ AWC จดทะเบียนอยู่ในกลุ่มหุ้นอสังหาฯโดยมีขนาดใหญ่มากเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม (รองจาก CPN )

ปรับพอร์ตหอบเงินจอง AWC

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หุ้นไอพีโอของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ได้มีการตกลงทำสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญกับผู้ลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (cornerstoneinvestor) 13 ราย ได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เสนอขายครั้งนี้ รวม 3,454 ล้านหุ้น หรือประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ 10 รายรวม 1,772 ล้านหุ้น มูลค่า 10,600 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 3 ราย จำนวน 1,682 ล้านหุ้นคิดเป็นมูลค่า 10,092 ล้านบาท ได้แก่ GIC Private Limited กองทุนสิงคโปร์ 1,530 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท Affin Hwang Asset Management Berhad 50 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และ Maitri Asset Management 102 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท

“GIC เป็นนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่จองซื้อมากที่สุด ซึ่งพบว่าในเดือน มิ.ย. 62 GIC ได้เทขายบิ๊กลอตหุ้น บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) มูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาทเช่นกัน มีความเป็นไปได้ว่าขายรายการใหญ่ เพื่อนำเงินไปจองซื้อหุ้น AWC” นายภราดรกล่าวและว่าเนื่องจากหุ้น AWC มีขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังเข้ามาระดมทุนยังมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนี MSCI และ FTSE ในระยะถัดไป ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีฟันด์โฟลว์ (เงินลงทุนต่างชาติ) เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทโดยตรง เนื่องจากมีประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทเช่นกัน อาทิ การเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ และสภาพการส่งออก เป็นต้น

“ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดหุ้น หลังภาพการปรับพอร์ตของนักลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้เดือน ก.ย. 62 ดัชนีปรับตัวลดลงค่อนข้างเยอะ ขณะที่ตลาดหุ้นอื่น ๆ ไม่ได้ปรับลง ซึ่งเมื่อดูไส้ในพบว่าเป็นเพราะนักลงทุนสถาบันปรับพอร์ตเพื่อเตรียมเงินเข้ามาซื้อหุ้น AWC ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันขายหุ้นติดต่อกัน 7 วัน มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท เนื่องจากหุ้น AWC มีไซซ์ที่ใหญ่มาก นักลงทุนสถาบันที่จะต้องจองซื้อจะต้องปรับพอร์ตเตรียมเงิน โดยคาดว่ากระบวนการปรับพอร์ตจะแล้วเสร็จในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เพราะหุ้นไอพีโอ AWC จะเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อวันที่ 1-3 ต.ค. 62” นายภราดรกล่าว

AWC เขย่าตลาดหุ้น

นายภราดรกล่าวอีกว่า การเข้าระดมทุนของ AWC จะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และหุ้นใน SET50 เนื่องจากหุ้น AWC ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จึงขายหุ้นอื่นในกลุ่มเพื่อรอซื้อ AWC โดยจะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มอสังหาฯเดือน ก.ย. 62 ปรับลดลงมาราว 4% ขณะที่ SET index ปรับลงเพียง 1% กว่า ๆ

ขณะที่มาร์เก็ตแคปของ AWC ที่ใหญ่มาก 1.92 แสนล้าน ส่งผลให้ผ่านเกณฑ์พิเศษของตลาดหลักทรัพย์ฯเข้าคำนวณใน SET50 และ SET100 คือ มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ติด 1 ใน 20 ของหุ้นทั้งตลาด หรือมีสัดส่วนมาร์เก็ตแคปเกิน 1% ของหุ้นทั้งตลาด ซึ่ง AWC มีมาร์เก็ตแคปใหญ่อันดับ 19 หรือประมาณ 1.1% มาร์เก็ตแคปทั้งตลาด ทำให้ AWC ได้สิทธิเข้ามาอยู่ใน SET50 และ SET100 ทันที ซึ่งก็ทำให้ต้องมีหุ้นที่หลุดจากดัชนีดังกล่าว ซึ่งหุ้นตัวสุดท้ายของดัชนี SET50 และ SET100 ที่มีความเสี่ยงอาจหลุดจากการคำนวณมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP มาร์เก็ตแคปขนาด 56,000 ล้านบาท ซึ่งก็พบว่าในเดือนกันยายนนี้ ราคาหุ้นปรับลดลงไปประมาณ 8% และ บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) เป็นหุ้นที่เสี่ยงหลุดจาก SET100 ก็พบว่า ราคาหุ้นปรับลดลงราว 14%

นอกจากนี้จากข้อมูลพบว่า กองทุนในไทยประมาณ 36 กองทุน ที่มีการซื้อขายล้อตามดัชนี SET50 ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริการ (AUM) รวม 8.8 หมื่นล้านบาท ก็จะต้องปรับพอร์ตนำเงินมาจองซื้อหุ้น AWC เพื่อให้เป็นตามน้ำหนัก SET50 จะต้องใช้เงินราว 1.6% ของ (8.8 หมื่นล้านบาท) ประมาณ 1,400 ล้านบาท

“หลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อ AWC เข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 คาดว่าจะส่งผลให้กองทุนที่ลงทุนตามดัชนี จะต้องเข้ามาเร่งซื้อหลัง AWC เข้าตลาด ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันให้ AWC ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าหุ้น IPO ตัวอื่น ๆ ในปีนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อแรงขายในหุ้นอื่น ๆ อีกครั้ง” นายภราดรกล่าว

ราคา IPO “ขายอนาคต”

แหล่งข่าวจากตลาดทุนอีกรายกล่าวว่า จุดดีของหุ้น AWC เป็นหุ้นอสังหาฯที่มีพอร์ตธุรกิจทั้งโรงแรม สำนักงานให้เช่า อสังหาฯเพื่อการพาณิชย์แบบเน้นรายได้จากการเช่าและรายได้จากการบริการ ที่มีหลายแบรนด์หลายไลน์ธุรกิจถือเป็นการกระจายความเสี่ยงได้เยอะ ทำให้รายได้ค่อนข้างเสถียร ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้หดตัวลงรุนแรง และมีโอกาสเติบโตอีก เพราะหุ้น AWC คุมทำเลทองไว้หลายที่

อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาไอพีโอ 6 บาทต่อหุ้น คำนวณเป็นมูลค่ากิจการประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลก็ค่อนข้างแพง เพราะเป็นการคำนวณมูลค่าการเติบโตในอนาคตเข้ามาค่อนข้างมาก ซึ่งจะต้องเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปีต่อเนื่อง ซึ่งการจะให้โตในระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เรียกว่าเป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างดุ พูดง่าย ๆ คือ คนอื่นต้องไม่โต ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ราคาหุ้น 6 บาท ถือว่าค่อนข้างตึง โอกาสปรับขึ้นเหนือจองในเวลาอันสั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า เนื่องจากธุรกิจประมาณ 50% เป็นสินทรัพย์ที่ให้บริการแล้ว และอีก 50% กำลังพัฒนา ฉะนั้นจึงทำให้ P/E (price-earnings ratio) ในปีแรก ๆ จะแพง เพราะจะต้องรอการพัฒนาแอสเสตต่าง ๆ ให้จบก่อน หมายความว่ารอให้ทำการตลาด มีลูกค้า มีรายได้ มีกำไร จึงจะดึงค่าพี/อีลง ดังนั้น ราคา IPO ที่ขายก็ต้องบอกว่าเป็นการ “ขายอนาคต” ไม่ใช่ขายธุรกิจปัจจุบัน

“ขณะที่การระดมทุนของ AWC เพื่อกระจายหุ้นให้นักลงทุนทั่วไป 25% หลัก ๆ มองว่าเป็นการนำเงินไปใช้หนี้ ที่เหลือก็นำเงินไปลงทุนต่อ หากเคลียร์หนี้หมดก็จะลดภาระเรื่องดอกเบี้ยลงไปได้เยอะมาก คือ เปลี่ยนเจ้าหนี้จากธนาคารพาณิชย์ก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่สัดส่วน 25% ซึ่งไม่มีสิทธิ์ออกเสียงอะไร แต่ถ้าแบงก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ แบงก์จะบีบในหลาย ๆ เรื่อง ครั้งนี้ก็เป็นการเปลี่ยนมือเอาภาระจ่ายดอกเบี้ยมาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นแทน ทำให้ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า ทั้งยังมีโอกาสการทำกำไรจากราคาหุ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ตลท.ปลื้มดีลใหญ่สุดรอบ 14 ปี

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ AWC ถือว่าเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี โดยจะทำให้การเติบโตของมูลค่าตลาดหุ้นไทย (มาร์เก็ตแคป) ปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย (ณ 20 ก.ย.) อยู่ที่ 17.1 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปลายปี 2561 ที่อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

“ตอนนี้มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยอยู่ใกล้ ๆ 18 ล้านล้านบาทแล้ว ซึ่งสำหรับในปีนี้ ถ้ายังไม่รวมดีล AWC มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 8 หมื่นล้านบาท” นายศรพลกล่าว