“ชิมช้อปใช้” เม็ดเงินสะพัด 10 ล้านคนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ชิมช้อปใช้” แจกเงิน 1,000 บาทกระตุ้นกำลังซื้อสะพัด คลังมั่นใจคนรอใช้สิทธิ์เกิน 10 ล้านคน ลุ้นต่อเฟส 2 ธ.กรุงไทยเกาะติดแก้ปัญหาร้านค้าร่วมโครงการ มั่นใจ “ร้านค้าชุมชน” ได้อานิสงส์ วางมาตรการสกัดยักษ์ค้าปลีกกินรวบ จำกัดสิทธิ์ร่วมได้แค่ 1 จังหวัด-จุดรับเงิน 20 จุด บี้ “เทสโก้ โลตัส” ปรับแผน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มั่นใจว่าการลงทะเบียนมาตรการชิม ช้อป ใช้จะเรียบร้อยครบถ้วนทั้ง 10 ล้านคนได้ตามเป้าหมาย และเชื่อว่าจะมีผู้ที่อยากลงทะเบียนรับสิทธิมากกว่า 10 ล้านคน แม้ว่าจะมีเสียงบ่นเรื่องการยืนยันตัวตนทำได้ยาก ซึ่งก็ต้องยอมรับเพราะเป็นเรื่องต้องแลกกับความปลอดภัย ไม่ให้เกิดการสวมสิทธิ์ด้วย พร้อมยืนยันว่าระบบชิม ช้อป ใช้ไม่เคยล่ม แต่ปัญหาเกิดจากหลายกรณี เช่น ลูกค้าไปใช้จ่ายผ่านแอป “เป๋าตัง” แต่ไม่เปิด location ซึ่งจะเป็นตัวตรวจสอบว่าได้ใช้จ่ายในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ เป็นต้น

ทั้งนี้จากยอดใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 27-29 ก.ย. รวม 3 วัน มียอดการใช้จ่ายประมาณ 294 ล้านบาท จากผู้ใช้สิทธิ 370,523 ราย พบว่ากว่า 50% หรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายกลุ่ม “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ รองลงมาคือ “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท สำหรับ “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาท

สำหรับร้านค้าทั่วไปรวมถึงห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในหมวดช้อปพบว่ามียอดใช้จ่ายประมาณ 79 ล้านบาท ส่วนการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่จะได้รับเงินคืน 15% มีการใช้จ่ายแล้ว 5 ล้านบาท ทั้งยืนยันว่าไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ เมื่อเริ่มใช้จ่ายจะเห็นว่าเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจริงในพื้นที่ เป็นร้านขนาดเล็กที่ได้อานิสงส์ ข้อมูลถึงวันที่ 1 ต.ค. มีผู้เริ่มใช้สิทธิเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ราย ยอดใช้จ่ายราว 440 ล้านบาท

สกัดค้าปลีกใหญ่ได้แค่ 1 จังหวัด

สำหรับกรณีห้างเทสโก้ โลตัสที่ลูกค้าเข้าคิวรอจ่ายเงินจำนวนมากต้องยกเลิกการซื้อสินค้า โดยทางห้างบอกลูกค้าว่า แอปเป๋าตังล่มนั้น นายลวรณ ยืนยันว่าแอปไม่ได้ล่ม เพียงแต่เงื่อนไขการลงทะเบียนของร้านค้า “ถุงเงิน” 1 ร้านค้า จะเข้าใช้งานได้ 20 จุด และเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปยังเศรษฐกิจฐานรากมากที่สุด กรณีเป็นห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรดที่มีสาขาหลายจังหวัดได้กำหนดให้เข้าร่วมได้เพียง 1 จังหวัดเท่านั้นต่อ 1 เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (tax ID)

กติกากำหนดไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขา สามารถเลือกจังหวัดที่จะมาลงทะเบียนได้เพียง 1 จังหวัด และจะเข้าร่วมกี่สาขาก็ตาม แต่จะมีจุดรับชำระเงินให้แค่ 20 จุด ดังนั้นผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการให้ดี

“สมมุติถ้าเข้าร่วม 5 สาขา ก็จะทำให้แต่ละสาขามี 4 จุดจ่ายเงิน แต่กรณีที่เกิดขึ้นเขาใช้ 20 สาขา ทำให้แต่ละสาขามีจุดรับชำระเงินแค่ 1 จุด ฉะนั้นคิวยาวมากแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นผมจะลดจำนวนสาขาที่เปิดรับถุงเงินให้เหลือ 10 สาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพราะสาเหตุที่ลูกค้าทิ้งรถเข็นไว้ เป็นเพราะว่าจำนวนคนมาใช้สิทธิเยอะ และช่องทางชำระเงินมีเพียงจุดเดียว จึงทำให้รอคิวนานจนเกิดปัญหาขึ้น” นายลวรณกล่าว

ขอลุย 10 ล้านคนจบก่อนเฟส 2

ส่วนกรณีรัฐบาลมีนโยบายจะออกมาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ต่อนั้น นายลวรณกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องระดับนโยบาย ยังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการ ขณะนี้ขอผลักดันชิม ช้อป ใช้ 10 ล้านคนให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้จากที่มีการลงทะเบียน 1 ล้านคน/วัน แต่ละวันมีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านราว 2 แสนราย สิทธิดังกล่าวก็จะยังอยู่ ทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิสามารถรอลงทะเบียนต่อจนกว่าจะเต็ม 10 ล้านคน ภายใน 15 พ.ย.นี้

นายลวรณกล่าวด้วยว่า ระบบ G-wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ เป็นการนำมาใช้สำหรับมาตรการชิม ช้อป ใช้เป็นครั้งแรก จึงอาจมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่ภาพรวมที่มีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 8 ล้านคน เทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเล็กน้อยมาก และต่อไป G-wallet จะเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย ในสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง วันนี้ถ้ายังไม่คุ้นเคยไม่เป็นไร แต่ขอให้พยายามทำความรู้จักและใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่มีการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าลงทะเบียนเต็ม 1 ล้านคนทุกวัน หมายความว่าจะครบจำนวน 10 ล้านคนในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม จากที่มีผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านวันละเฉลี่ยประมาณ 2 แสนคน เนื่องจากใส่ข้อมูลไม่ถูกต้องในส่วนต่าง ๆ ทำให้เบื้องต้นจะมียอดตีกลับมาเพื่อให้ลงทะเบียนต่ออีกราว 2 ล้านคน ดังนั้นจึงจะมีการเปิดลงทะเบียนต่อจากวันที่ 2 ตุลาคมนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน

บี้ “โลตัส” แก้ปัญหาจุดรับเงิน

นายธวัชชัย ชีวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรณีห้างเทสโก้ โลตัสที่ปรากฏเป็นข่าวว่าประชาชนไปใช้สิทธิจำนวนมาก แต่จ่ายเงินไม่ได้นั้น เนื่องจากโครงการนี้ต้องการให้เม็ดเงินไปสู่ร้านค้าชุมชนเป็นหลัก จึงจำกัดสิทธิโมเดิร์นเทรดแค่ 20 จุดชำระเงิน ซึ่งห้างที่มีหลายสาขาก็ขึ้นกับทางห้างจะบริหารจัดการ โดยกรณีเทสโก้ โลตัสนั้นเข้าใจว่าขณะนี้กำลังปรับแผนบริหารคิว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าอยู่

ตัดสิทธิ 350 ร้านค้า

ขณะที่นางประราลี รัตน์ประสาทพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โมเดิร์นเทรดที่มีหลายสาขาในหลายจังหวัด จะเลือกร่วมโครงการได้เพียง 1 จังหวัดต่อ 1 เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ส่วนกรณีห้างบิ๊กซี ที่มีการเข้าร่วมหลายจังหวัดนั้น เนื่องจากมีการจดทะเบียนบริษัทและ tax ID มากกว่า 1 หมายเลข

“กรณีมีร้านค้าที่ประสบปัญหาเกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่ใช่ปัญหาระบบ อย่างที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาว่าเงินไม่เข้าถุงเงิน ทางธนาคารกรุงไทยก็มีทีมสาขาลงไปแนะนำทำความเข้าใจการใช้งานกับร้านค้า”

นอกจากนี้กรุงไทยมีการมอนิเตอร์ ตรวจสอบการใช้สิทธิในทางที่ผิดอยู่ตลอด ไม่ว่าจะร้านค้าหรือตัวผู้ลงทะเบียน ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้ลงทะเบียน 1 ล้านคน/วัน แต่จะมีผู้ลงทะเบียนผ่านราวกว่า 7 แสนคน ขณะที่ในส่วนของร้านค้ามีการตัดสิทธิร่วมโครงการไปแล้วประมาณ 350 ร้านค้า เพราะมีการทำผิดวัตถุประสงค์ เช่นการใช้ในสถานที่ไม่เหมาะสม หรือมีการโฆษณาที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ รวมถึงที่มีการยกเลิกในส่วนของร้านโชห่วยและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เทสโก้ยอมรับจุดรับชำระไม่พอ

แหล่งข่าวจากบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหาร “เทสโก้ โลตัส” ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กรณีที่โซเชียลแชร์ภาพรถเข็นถูกทิ้งอยู่ในเทสโก้ โลตัสจำนวนมากนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของการเข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ ในวันแรก ซึ่งเทสโก้ฯก็แก้ไขด้วยการเพิ่มเคาน์เตอร์รับชำระสินค้าโครงการชิม ช้อป ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก แต่ยังติดปัญหาเรื่องแท็บเลตติดตั้งแอปพลิเคชั่นถุงเงินไม่เพียงพอ เพราะบริษัทได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนี้ 20 สาขากระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งทางการจำกัดให้มีจุดรับชำระแค่ 20 จุด ดังนั้นจึงกระจายได้เพียง 1 สาขาต่อ 1 แท็บเลตเท่านั้น ทำให้จำนวนคิวที่รอชำระนาน

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่.. คลังตั้งเป้า “ชิมช้อปใช้” ดันเม็ดเงินเข้าระบบ 6 หมื่นล้านบาท ดันจีดีพี 0.3%