ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบ ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562 ค่าเินบาทเปิดตลาดเช้าววันนี้ (30/10) ที่ระดับ 30.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (29/10) ที่ระดับ 30.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 125.9 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 128.0 จากระดับ 126.3 ในเดือน ก.ย. ซึ่งผู้บริโภคสหรัฐลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการจ้างงาน และสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ตลาดติดตามการประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งการประชุมนโยบายการเงินครั้งหลังสุดของเฟดเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติ 7 ต่อ 3 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.21-30.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index-MPI) เดือนกันยายน 2562 พบว่าอยู่ที่ 97.5 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.73% ส่งผลให้ MPI 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 103.12 ลดลง 2.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีลดลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ สศอ.จะติดตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ, ค่าเงินบาทที่แข็งค่า, รวมถึงการถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางการภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) และ สศอ.จะมีการทบทวน MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (30/10) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1109/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/10) ที่ระดับ 1.1077/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเยอรมนีเปิดตลาดตัวเลขอัตราการว่างงานในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 5.0% และสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสรายงานว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสในไตรมาส 3 ขยายตัว 0.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1107-0.1124 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1117/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (30/10) เปิดตลาดที่ระดับ 108.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (29/10) ที่ระดับ 108.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันนี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจสร้างแรงกดดันให้แบงก์ชาติญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.82-107.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ต.ค. จาก ADP (30/10), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2562 (30/10), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (29-30/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (31/10), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือน ต.ค. (31/10), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.ย. (31/10), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค. (1/11), ดัชนีผู้จัดการฝายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ต.ค.จากมาร์กิต (1/11), ดัชนีภาคการผลิตเดือน ต.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)(1/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.85/-0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.75/-0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ