เฟสโก้มองระยะสั้นหุ้นไทยผันผวนแรง เชื่อลงทุนยาวผลตอบแทนยังสูง

แฟ้มภาพ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) เปิดเผยว่า ในระยะสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลไปยังตลาดอื่นๆ จึงทำให้ในระยะสั้นดัชนียังคงมีความผันผวนสูง แต่อย่างไรก็ตามในระยะยาวยังมองการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงอยากให้รัฐบาลแยกวงเงินลดหย่อนภาษีของกองทุนใหม่ที่จะมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสนับสนุนนักลงทุนที่วางแผนในระยะยาว

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ธ.ค.62-ก.พ.63) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) โดยเพิ่มขึ้น 1.72% มาอยู่ที่ระดับ 87.93 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนคลี่คลาย และเงินทุนไหลเข้าเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่ความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) และภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

ในช่วงเดือนพ.ย.62 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคลื่อนไหวในช่วง 1,590-1,641 จุด โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมาอยู่จุดสูงสุดที่ 1,641 จุด จากนั้นทยอยปรับตัวลดลงมาอยู่บริเวณ 1,590-1,600 ตลอดเดือน แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐและคณะกรรมการนยาบการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามดัชนีมีการฟื้นตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายขึ้นมาอยู่ที่ 1,610-1,620 จุด จากปัจจัยความคาดหวังผลจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่คาดว่าจะลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกภายในปีนี้ และคาดหวังการเลื่อนหรือยกเลิกกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในเฟส 2 จำนวน 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 15 ธ.ค.62

โดยทิศทางลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือ ความคาดหวังการเจรจาทางการค้าของสหรัฐกับจีน รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน ขณะที่นักลงทุนกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือผลภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวลงแม้ว่าภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ความชัดเจนของข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 และแนวโน้มการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในขั้นที่ 2

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในปี 2563 แนวโน้มอุปสงค์โลกชะลอตัว ความไม่แน่นอนของ Brexit ความต่อเนื่องของดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักของโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือทิศทางของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และนโยบายภาครัฐในการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เป็นปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน ธ.ค.62 ประเมินดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. ช่วงวันที่ 18 ธ.ค.นี้อยู่ที่ระดับ 48 เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว มาอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนกันยายนนี้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.25 ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัว และฟันด์โฟลว์ (Fund flow) จากต่างชาติที่ลดลงเป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ

โดยดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. ก.พ.2563 (ประมาณ 11 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 64 และ 70 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วอย่างมากเนื่องจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่มีมุมมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมีจำนวนมากขึ้น แต่ดัชนีคาดการณ์ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” จาก 1.46% และ 1.71% ตามลำดับ ทำการสำรวจ (15 พ.ย. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัว และฟันด์โฟลว์จากต่างชาติที่ลดลง