ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่า แม้เจรจาการค้ายังคงไม่แน่นอน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 2-6 ธันวาคม 2562 สำหรับค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (2/12) ที่ระดับ 30.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 30.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากที่นักลงทุนยังคงกังวลกับปัญหาในการทำข้อตกลงการค้าบางส่วนระหว่างจีนกับสหรัฐ หลังประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ขณะที่จีนเองนั้นก็ต้องการเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง

ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องในวันอังคาร (3/11) หลังจากที่ทางการสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากบราซิล และอาร์เจนตินา โดยทั้งสองประเทศถูกเพ่งเล็งว่าเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ต่อการส่งออก รวมทั้งทางการสหรัฐ เตรียที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชีส กระเป๋าหนัง และสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ รวมมูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากฝรั่งเศสเพื่อเป็นการตอบโต้แผนการขึ้นภาษีสินค้าดิจิทัลจากบริษัทสัญชาติสหรัฐ พร้อมจับตาประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เช่น ออสเตรีย อิตาลี และตุรกี ทำให้ความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางการสหรัฐ พร้อมที่จะปรับขึ้นภาษีการนำเข้ากับคู่ค้าโดยไม่มีข้อแม้หากการเจรจาการค้าไม่สัมฤทธิ์ผล

ทั้งนี้สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่ได้เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ประจำเดือนพฤศจิกายน ชะลอตัวลงมาที่ระดับ 48.1 ลดลงต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.2, ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือนตุลาคม พบว่ามียอดขาดดุลลดลง 7.6% สู่ระดับ 4.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพบว่าการส่งออกสินค้าลดลง 0.2% สู่ระดับ 2.071 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าสินค้าลดลง 1.7% สู่ระดับ 2.543 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ, ตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานขอสหรับ ประจำเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งได้มีการเปิดเผยตัวการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นเพียง 67,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตารอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐประจำเดือนพฤศจิกายน ที่จะได้เปิดเผยภายในคืนวันศุกร์ (6/12) ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าทดสอบแนวต้านที่ระดับ 30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันจันทร์ (2/12) สวนทางกับสกุลเงินอื่นภายหลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของไทยซึ่งขยายตัว 0.21% ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งแม้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.11% แต่ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.34% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 11 เดือนของปี 2562 ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 0.69% ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย

พร้อมทั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4/12) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการแสดงความคิดเห็นกับค่าเงินบาทว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวอ่อนค่า เนื่องด้วย ณ ปัจจุบัน นักลงทุนในตลาดโลกเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงค่าเงินบาทว่าคงยังไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ จากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งปัจจัยของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) ได้เริ่มมีการเปลี่ยนคำสั่งและสถานะจากซื้อเงินบาท (Long) เปลี่ยนเป็นขายเงินบาท (short) อีกทั้งปัจจัยของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ได้มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง และปัจจัยจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งปัจจัยของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve) ของไทยที่ยังคงต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินที่มาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของไทย ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีกรอบเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.20-30.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (6/12) ที่ 30.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (2/12) ที่ระดับ 1.1019/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 1.1003/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนประจำเดือนพฤศจิกายน ปรับขึ้นสูงเกินคาด โดยมีการขยายตัว 1.0% จากระดับ 0.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.9% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและบริการ ประกอบกับการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นปลายของไอเอชเอส มาร์กิต เดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 46.9 จากระดับ 45.9 ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามค่าเงินปอนด์หลังจากได้มีการเปิดเผยผลการสำรวจที่ระบุว่า กระแสความนิยมต่อพรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยังคงนำหน้าพรรคแรงงาน ในการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษจะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ซึ่งหากพรรคอนุรักษ์นิยมชนะ และรัฐสภาให้การรับรองข้อตกลง Brexit ก็จะส่งผลให้ข้อตกลง Brexit จะสามารถดำเนินได้ตามกำหนดการเดิม แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ได้มีการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนประจำไตรมาสที่ 3 ขยายตัว 0.2 ซึ่งเท่ากับตัวเลขประมาณการเบื้องต้น และไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 2 แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ได้ขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาส 3 ทั้งนี้สถานการณ์การค้าโลกเป็นปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงเจรจากันอยู่และยังไม่ได้ข้อสรุป โดยค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1,1001-1.1115 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/12) ที่ระดับ 1.1103/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (2/12) เปิดตลาดที่ระดับ 109.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 109.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวแข็งค่าหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากบราซิล และอาร์เจนติน่า พร้อมทั้งเตรียมพร้อมตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าดิจิทัลของฝรั่งเศส แต่ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยตัวเลขใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม ได้ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน หลังจากมาตรการปรับขึ้นภาษีการบริโภคมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้มีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 26 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง และเพื่อรับมือของผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีการบริโภคทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวระหว่าง 108.41-109.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (6/12) ที่ระดับ 108.61/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ