เทรนด์เงินบาทปี’63 “แข็งค่า” คลังเคาะตั้งบอร์ดรับมือผันผวน

ปี 2562 เป็นปีที่ค่าเงินบาท “แข็งค่า” ต่อเนื่อง โดยบางช่วงแข็งค่าไปถึง 30.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติ “แข็งค่าสุด” ในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่ ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องงัดมาตรการออกมา “ลดแรงกดดัน”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปปีหน้า (ปี 2563) ท่ามกลางสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยัง “เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” ประกอบกับปัจจัยพิเศษที่ประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง การที่ต่างชาติมองไทยเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจยังไม่ได้คลี่คลายนัก จึงได้เห็นหลายหน่วยงานต่างทบทวนคาดการณ์ค่าเงินบาทปีหน้ากันใหม่

โดย “กอบสิทธิ์ ศิลปชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า ช่วงครึ่งปีแรกปีหน้าค่าเงินบาทจะแข็งค่าระดับ 29.75 บาท/ดอลลาร์ และภายในสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 29.25 บาท/ดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงกว่า 3.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของไทย ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนที่ยังต่ำ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง

“ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์” นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า ในระยะสั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า โดยภายในปลายปี 2562 นี้จะเห็นค่าเงินอยู่ที่ระดับ 29.75 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าการส่งออกอาจจะติดลบ 3% แต่การนำเข้าจะติดลบมากกว่า ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปีเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว ทำให้เงินไหลเข้า ขณะที่ภายในครึ่งปีแรกปี 2563 อาจจะเห็นบาทแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ได้ จากดุลการค้าที่ยังเกินดุลต่อเนื่อง

“ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า ปีหน้าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปแตะ 28.70 บาท/ดอลลาร์เลยทีเดียว จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลง โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐปั่นป่วนก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้อีก 2.สงครามการค้า ที่น่าจะสามารถจบได้ภายในปีหน้า และ 3.เงินทุนเคลื่อนย้ายคาดว่า 50% อยู่ในสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่

นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐจะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด ถ้ามองจากในอดีต เงินดอลลาร์มักแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักราว 3.4% เมื่อมีการเลือกตั้ง แต่ในปีหน้าอาจต่างออกไป ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง โดยหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ อาจเห็นดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ 3-5% ในไตรมาส 4 แต่ถ้าแพ้ ตลาดอาจกังวลกับการเปลี่ยนแปลงและอาจสลับไปถือยูโรแทน ซึ่งในกรณีนี้เงินบาทก็จะแข็งค่าตามด้วย

“ปีหน้าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเห็นการไหลเข้ามากกว่าไหลออก โดยคาดว่าจะมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นราว 1 หมื่นล้านบาท เข้าตลาดตราสารหนี้ 2 หมื่นล้านบาท จึงเป็นโอกาสให้บาทแข็งค่า โดยคาดว่าครึ่งปีแรกค่าเงินจะผันผวน จะเห็นเงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่าได้ แต่ในครึ่งปีหลังจะเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าขาเดียว ทำให้เงินบาทจะแข็งค่า โดยคาดว่าปีหน้าเงินบาทจะแข็งค่าราว 5% ไปที่ 28.7 บาท/ดอลลาร์” ดร.จิติพลกล่าว

ทั้งนี้ “ดร.จิติพล” บอกด้วยว่า ผู้ประกอบการควรหาทางใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทให้มากขึ้น ทั้งการปรับปรุงการผลิต ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ หรือปรับเปลี่ยนต้นทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดแรงต้านของการอ่อนค่าของดอลลาร์ลง

ฟาก “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าได้มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มปรับมุมมองที่ไม่ได้มองเงินบาทและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อีกต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานที่จะลงทุน และจากการที่ ธปท.ได้มีมาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่อง อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปค่าเงินบาทคงจะเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางมากขึ้น ซึ่งหลัง ธปท.มีมาตรการผ่อนคลายถือว่าช่วยลดแรงกดดันได้ รวมถึงในช่วงที่เงินไหลเข้ามามาก ธปท.ก็จะเข้าไปแทรกแซงไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป

ด้าน “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง กล่าวว่า เตรียมเสนอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทั้งกระทรวงการคลัง ธปท. ตลาดทุน และภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อเตรียมการรับมือความผันผวนในระยะข้างหน้าได้แต่เนิ่น ๆ ซึ่งต้องเสนอผู้ใหญ่เห็นชอบก่อน

“นโยบายการเงินการคลังก็จะประสานกัน แต่ยังต่างคนต่างทำงาน โดย ธปท.ก็ดูแลการเงิน ส่วนกระทรวงการคลังก็ดูนโยบายการคลัง แต่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งแนวทางนี้ประเทศอื่น ๆ ก็ทำกันเยอะ” รมว.คลังกล่าวปีหน้าตลาดเงินทั่วโลกคงยังผันผวนอยู่มาก เพราะปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีในปีนี้ยังคงลากยาว โดยแนวโน้มค่าเงินบาทจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญค่ายต่าง ๆ ก็ยังคงคาดว่าจะ “แข็งค่า” ต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องปรับตัว พึ่งตัวเองกันให้มากขึ้นด้วย