‘แบงก์ชาติ’ ผ่อนเกณฑ์หนุนปรับโครงสร้างหนี้ SMEs

Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs อย่างใกล้ชิดพบว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายมิติ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ อาจหมุนเงินไม่ทัน หรือไม่สามารถหาเงินทุนหมุนเวียนใหม่

ดังนั้น หนึ่งเรื่องสำคัญที่ได้คุยกับสถาบันการเงิน คือ ในช่วงนี้ขอให้สถาบันการเงินเข้าไปดูแลผู้ประกอบการ SMEs เป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องการเห็นสถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (preemptive restructuring) ให้กับผู้ประกอบการ SMEs กล่าวคือ ปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่สถานะยังดี ไม่ต้องรอให้กลายเป็นหนี้เสียก่อน

ธปท. และกระทรวงการคลังหารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ SMEs อย่างต่อเนื่อง วันนี้กระทรวงการคลังจะเสนอ package ให้ ครม. พิจารณาในส่วนของการค้ำประกันและการปรับโครงสร้างหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ บสย.และมาตรการทางภาษีที่จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท. ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เดิมอาจเป็นอุปสรรค ให้เอื้อต่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากขึ้นในหลายเรื่อง โดยจะมีผล 1 ม.ค.63 – 31 ธ.ค.64 อาทิ

1. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิมต้องรายงานเครดิตบูโรทุกกรณี โดยไม่ได้แยกระหว่าง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (pre-emptive restructuring) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (troubled debt restructuring) ในประกาศใหม่จะเกิดความชัดเจนว่า ถ้าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน ก่อนลูกหนี้จะเป็นหนี้เสียก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ต้องรายงานต่อเครดิตบูโร รวมทั้งให้ลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสามารถกลับมาเป็นชั้นปกติได้ทันที ไม่มีผลกับการตั้งสำรองของสถาบันการเงิน

2. สำหรับกรณีที่เป็นหนี้เสียหรือเป็น NPL แล้ว ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เช่นเดียวกัน ตามมาตรฐานบัญชีจะใช้เวลา 12 เดือน หรือ 1 ปี กว่าจะกลับมาเป็นชั้นปกติได้ ในเกณฑ์ใหม่ถ้ามีการผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขใหม่ 3 งวด หรือ 3 เดือน ก็จะสามารถกลับมาเป็นชั้นปกติ ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs

3. ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินต้องพิจารณาเงินทุนหมุนเวียน (working capital) ซึ่งอาจจะเป็นวงเงินใหม่ที่ให้กับลูกหนี้เดิมสำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ถ้าสถาบันการเงินให้เงินทุนหมุนเวียนก็ต้องกันสำรอง ซึ่งถือเป็นต้นทุนของสถาบันการเงิน แต่ในเกณฑ์ใหม่ ถ้าสถาบันการเงินให้เงินทุนหมุนเวียน พร้อมกับปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก็จะอนุญาตให้สถาบันการเงินไม่ต้องตั้งสำรอง โดยืสามารถแยกบัญชีได้ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีแรงจูงใจในการให้เงินทุนหมุนเวียนและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs มากขึ้น

4. อีกเรื่องที่ ธปท.ต้องการให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ผู้ประกอบ SMEs ที่วันนี้วงเงินสินเชื่อปกติอาจจะเต็ม และจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างจะสูงมาก จึงควรจะเร่งช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และควรจัดวงเงินใหม่ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ลูกหนี้มีปัญหา นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินลดวงเงินของลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ใช้ (unused line) ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์ให้สถาบันการเงินไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้

นอกจากนี้ ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระของประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ด้วย