“กสิกร” ปล่อยกู้เจาะฟรีแลนซ์ดันสินเชื่อออนไลน์แสนล้าน

Photographer: Amanda Mustard/Bloomberg via Getty Images

ธนาคารกสิกรไทยรุกหนักเจาะลูกค้ากลุ่ม “ฟรีแลนซ์” ปั๊มยอดสินเชื่อออนไลน์โต 1 แสนล้านบาทปีนี้ เผยปี”62 ทดลองปล่อยกู้ไป 4 หมื่นล้านบาท พบคุณภาพหนี้ยังดี ตั้งเป้าหนี้เสียลูกค้าดิจิทัลเลนดิ้งไม่ควรเกิน 6% แจงยังไม่มีแผนซื้อกิจการแบงก์ต่างชาติ ชูกลยุทธ์ “Regional Bank” เน้นจับมือพันธมิตรลุยต่อยอดธุรกิจในต่างประเทศ มุ่งตลาด “อินโด-เวียดนาม”

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยในปี 2563 นี้ ธนาคารมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงการให้บริการของธนาคาร (under bank) มากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ (ฟรีแลนซ์) เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้เริ่มเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มดังกล่าวนี้แล้ว โดยการปล่อยกู้จะต้องมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้ามากขึ้นกว่าลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้ ในปี 2563 นี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อกลุ่มดังกล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ (digital lending) เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่เริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 3-4 หมื่นล้านบาท

“ปีนี้ เราจะไปในเซ็กเมนต์ที่ไม่เคยไป และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างกลุ่ม under bank ซึ่งจะต้องใช้การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น โดยที่ผ่านมาธนาคารได้เริ่มลองทำไปบ้างแล้ว ซึ่งเดิมธนาคารจะเน้นแต่กลุ่มลูกค้าเดิม ๆ แต่ต่อไปจะเน้นลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มคนขับ Grab คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เป็นต้น”

ทั้งนี้ การปล่อยกู้ digital lending ที่ทดลองปล่อยกู้ไป พบว่าคุณภาพสินเชื่อค่อนข้างดี เนื่องจากธนาคารปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง ซึ่งธนาคารมองว่าการปล่อยกู้ให้ลูกค้ากลุ่มนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ควรเกิน 5-6%

“โจทย์สำคัญต้องปรับกระบวนการภายใน ต้องทำให้เร็วขึ้น เราจึงตั้งทีมขึ้นมา มีกติกาทำงานร่วมกัน โดยต้องตัดสินใจเร็ว แล้วถ้าตัดสินใจพลาดต้องรีบบอกให้เร็ว และแก้ไขให้เร็ว โดยผู้บริหารก็ต้องติดตามอยู่ตลอด ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีโฟกัสดีขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปมาก หากเราคิดว่าเราเป็นช้างก็ต้องวิ่งให้เร็วเหมือน startup หรือถ้าเราเป็นปลาใหญ่ก็ต้องว่ายน้ำให้เร็ว และหาที่ที่ปลาเล็กไปไม่ถึงเพราะโลกนี้มีที่ให้เล่นสำหรับทุกคน”

สำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยนั้น นางสาวขัตติยากล่าวว่า ยังไม่ได้มีแผนเข้าซื้อกิจการแบงก์ในต่างประเทศ แต่ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายการเป็นสถาบันการเงินแห่งภูมิภาค (regional bank) ซึ่งยังต้องเรียนรู้ต่อเนื่อง เนื่องจากการทำธุรกิจในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถนำโมเดลไปใช้ร่วมกันได้ โดยกสิกรไทยจะใช้วิธีร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งจะช่วยได้ค่อนข้างมาก

โดยพันธมิตรก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาบันการเงิน อย่างเช่น K-Line ที่เป็นพันธมิตรที่ธนาคารเข้าไปถือหุ้นบางส่วน หรือการร่วมกับฟินเทค สตาร์ตอัพ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งจะใช้เม็ดเงินลงทุนไม่สูง อย่างไรก็ดี สัดส่วนการเติบโตของธุรกิจในต่างประเทศจะเห็นชัดเจนขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

“แบงก์ยังคงมองการเติบโตในภูมิภาคโดยพยายามจะเข้าไปในประเทศเวียดนาม เมียนมา และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศมีหลักเกณฑ์ไม่เหมือนกัน โดยเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นตลาดที่เราอยากเข้าไปเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง โดยอาจจะทำผ่าน K-Vision หรือ Beacon Venture Capital มากขึ้น เพราะมีโจทย์ที่จะต้องหาโอกาสการเป็น regional bank ซึ่งจะมาเสริมกลยุทธ์ทั้งในเรื่องการลงทุน ระบบการชำระเงิน และธุรกิจค้าขายออนไลน์ เป็นต้น”