“สมาคมพิโก” วอนคลังผ่อนเกณฑ์ หนุน “แหล่งเงินต้นทุนต่ำ” ปล่อยกู้

สมาคมพิโกไฟแนนซ์วอนคลังปรับเกณฑ์ให้กู้ผ่าน “แบงก์ออมสิน-กรุงไทย” หนุนแหล่งเงินทุนทำธุรกิจ เสนอปรับ “เงื่อนไขตั๋วสัญญา-เพิ่มวงเงินให้กู้เกิน 10 ล้านบาท-ดึง บสย.ค้ำประกัน” ประเมินภาพรวมธุรกิจปี”63 ยังมีโอกาสเจาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์แห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมได้ยื่นหนังสือถึง รมว.คลัง เพื่อให้พิจารณาขยายรายละเอียดการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารของรัฐแก่ผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ (พิโกไฟแนนซ์) เนื่องจากผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ในการหาแหล่งทุนมาปล่อยกู้ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้กู้ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะใช้เงินทุนของตนเองเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม แต่ละผู้ประกอบการมีเงินทุนจำกัด และหากไปหาเงินกู้จากแหล่งอื่นก็จะมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 15-18%

ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารออมสิน แต่มีเงื่อนไขที่ยังช่วยไม่ได้มากพอ และไม่สอดคล้องกับสัญญาเงินกู้ที่ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ทำไว้กับผู้ขอกู้ ซึ่งต้องมีระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินกับแบงก์ออมสินอยู่ในช่วงละไม่เกิน 180 วัน และสามารถต่อตั๋วสัญญาใช้เงินได้อีกไม่เกิน 1 ปี ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระหนี้ไปอีก 2 ปี

นอกจากนี้ สมาคมยังต้องการให้ธนาคารออมสินขยายวงเงินให้กู้สูงสุดจาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท โดยมีหลักประกันเต็มวงเงิน เพื่อเป็นการให้โอกาสกับผู้ประกอบการที่จะสามารถกู้ได้มากกว่า 10 ล้านบาท และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอหรือไม่เพียงพอ และยังเสนอให้มีการใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อส่วนที่เกินมูลค่าหลักทรัพย์ รวมถึงสินเชื่อที่ขอขยายวงเงินจากธนาคารออมสิน สำหรับรายที่ไม่สามารถหาหลักประกันมาค้ำประกันได้เต็มวงเงินกู้

“หากทางการขยายวงเงิน ที่ใช้เป็นแหล่งเงินทุน และใช้ บสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันให้ผู้ประกอบการได้ จะทำให้ธุรกิจนี้เดินหน้าต่อไปได้ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการที่มีเงินทุนไม่พอ จะไปขอกู้จากนายทุน ที่ดอกเบี้ยค่อนข้างแพงอยู่ที่ 1.5% ต่อเดือน หรือ 15-18% ต่อปี ซึ่งพอนานไป ก็จะทำให้ธุรกิจไม่แข็งแกร่ง เพราะเราไม่สามารถคิดดอกเบี้ยลูกค้าได้เกิน 36% ต่อปี ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเราเพิ่มขึ้น จึงอยากให้กระทรวงการคลังพิจารณาผ่อนปรนให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน กับธนาคารกรุงไทย เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ”

นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า แนวโน้มธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ในปี 2563 นี้ คาดว่าจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัว พืชผลทางการเกษตรยังไม่ดีนัก ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่ม โดยคาดว่าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จะทรงตัวที่ 3,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562

“อย่างไรก็ดี สมาคมมองว่าธุรกิจยังมีโอกาสขยายการเติบโตได้ เนื่องจากยังมีความต้องการสินเชื่อจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ขณะเดียวกัน จะเห็นผู้ประกอบการเริ่มขยายธุรกิจไปยังกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเพิ่มเติม นอกจากกลุ่มพ่อค้าและแม่ค้า”