ประกันโอด”เคลมห้าง”ทุบกำไรทรุด เจรจาค่ายรถชะลอขึ้นค่าซ่อม

แฟ้มภาพ

สมาคมประกันวินาศภัยไทยนัดถกขาใหญ่วงการ แก้ปมธุรกิจประกันแบกขาดทุนจาก “เบี้ยประกันรถป้ายแดง” เหตุค่ายรถกดราคาซื้อเหมาลอตทำแคมเปญแถมประกันฟรี ศูนย์บริการปรับขึ้นค่าซ่อม-ค่าอะไหล่ทุกปี อัตราความเสียหายประกันรถป้ายแดงสูงกว่า 80% “สินมั่นคงฯ” ชะลอรับประกัน หลายค่ายหนีขาดทุน

ถกแก้ปม “เคลมห้าง” ขาดทุน

นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการขาดทุนการรับประกันภัยรถยนต์ โดยเฉพาะรถซ่อมอู่ห้างหรือซ่อมศูนย์ของรถป้ายแดงขณะนี้ถือว่าเป็นปัญหากับภาคธุรกิจมากที่สุด เพราะมีอัตราความเสียหาย (loss ratio) ทั้งตลาดพุ่งสูงกว่า 80% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากศูนย์บริการของค่ายรถต่าง ๆ มีการปรับเพิ่มค่าแรงค่าอะไหล่ทุกปี ๆ ในขณะที่การคิดอัตราเบี้ยประกันปีแรกนั้นส่วนใหญ่ค่ายรถจะซื้อแบบเหมาเพื่อแถมให้กับผู้ซื้อรถ ทำให้ค่ายรถมีอำนาจการต่อรองราคาจนทำให้บริษัทประกันขาดทุนจากพอร์ตรับประกันปีแรกเนื่องจากปัญหาที่สะสมมา ทำให้ปีนี้สมาคมตั้งเป็นวาระหารือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยจะนัดประชุมกับบริษัทประกันรายใหญ่ที่มีพอร์ตรับประกันรถซ่อมอู่ห้างจำนวนมาก เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับส่วนลดค่าแรงค่าอะไหล่จากการซ่อมศูนย์ เนื่องจากบริษัทประกันแต่ละรายก็จะอยู่ในรายชื่อของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ใช้แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อรถอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกับทางโตโยต้า, ฟอร์ด, มาสด้า, นิสสัน, ฮอนด้า เป็นต้น

“เราต้องนำข้อมูลมาคุยกันก่อนว่า จะมีวิธีการที่จะทำให้เกิดบาลานซ์ระหว่างรายได้และกำไรได้มากกว่านี้หรือไม่ เพราะหากต้องรับประกันพอร์ตที่ขาดทุนต่อไปเรื่อย ๆ จะมีผลต่อการรายงานงบการเงินเมื่อมีผลบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) ทันที” นายวาสิตกล่าว

ทำศูนย์ข้อมูลเปรียบเทียบค่าซ่อม

นายวาสิตกล่าวว่า หลังจากนี้บริษัทประกันต้องทำเบี้ยให้สอดคล้องกับต้นทุน หากรถบางรุ่นบางยี่ห้อไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรงค่าอะไหล่มากเกินไป ก็ไม่ต้องปรับเพิ่มเบี้ย แต่ถ้ายี่ห้อไหนปรับขึ้นค่าอะไหล่ ก็คงต้องขอปรับขึ้นค่าเบี้ย ทั้งนี้สมาคมคงทำได้ในเชิงการให้ข้อมูล โดยเฉพาะอะไหล่ตัวถัง บางแบรนด์บางยี่ห้อจะสูงกว่ามาตรฐาน หรือสูงกว่าบางยี่ห้อ จึงต้องทำดาต้าเบสเป็นข้อมูลกลาง

ค่ายรถขึ้นค่าอะไหล่ปีละ 5-7%

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า เรื่องนี้อาจจะต้องแยกข้อมูลระหว่างเบี้ยซ่อมห้าง (รถป้ายแดงปีแรก) กับเบี้ยซ่อมอู่ทั่วไปออกมาเพื่อให้เห็นภาพชัด ว่ามีกำไรขาดทุนอย่างไร เพื่อกำหนดมาตรการให้ชัดขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าธุรกิจขาดทุนแล้วจะขึ้นเบี้ย แต่ทำอย่างไรที่จะช่วยบริหารพอร์ต เช่นให้ค่ายรถทั้งหลายชะลอขึ้นค่าแรงค่าอะไหล่บ้าง เพราะศูนย์บริการจะปรับราคาทุกปี เฉลี่ย 5-7% ต่อปี

“ฉะนั้นต้องหาทางคุยกัน เพราะธุรกิจประกันขาดทุนไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ไหว ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากประกันรถยนต์ขาดทุนมา 3 ปีแล้ว จึงต้องปรับตัวและหารือร่วมกัน”

นายอานนท์กล่าวและว่าข้อมูลช่วงไตรมาส 3/62 พบว่าประกันรถยนต์มีอัตราความเสียหายอยู่ที่ 65.6% แต่หากเป็นเคลมเฉพาะรถซ่อมห้าง (ปีแรก) จะสูงกว่า 70% ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้อุตสาหกรรมขาดทุนมาก ขณะที่เบี้ยประกันไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้

นายอานนท์กล่าวว่า ปีนี้จากการประเมินตามการปรับเพิ่มความคุ้มครองใหม่ ถ้าจ่ายเคลมศพละ 1 ล้านบาท อัตราความเสียหายของประกันรถยนต์จะเพิ่มขึ้นราว 2-3 พันล้านบาท

สินมั่นคงฯ ชะลอประกันป้ายแดง

นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) กล่าวว่า ปัจจุบันพอร์ตประกันรถยนต์ของบริษัทมีสัดส่วนกว่า 90% จากเบี้ยรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท อัตราความเสียหายซ่อมห้างค่อนข้างสูง ถ้ารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดยังเกิน 100% บริษัทได้มีการต่อรอง โดยจะรับประกันรถป้ายแดงซ่อมห้างน้อยลง โดยขณะนี้ได้แจ้งค่ายรถชะลอหยุดรับประกันรถซ่อมห้างไปบ้างแล้ว ซึ่งตามนโยบายจากนี้จะรับประกันรถซ่อมห้างไม่เกิน 50% ของพอร์ตทั้งหมด

“อาคเนย์ฯ” เน้นรับประกันรถเก่า

นายจิรวุฒิ บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่ายอดเคลมห้างสูงกว่าเคลมอู่ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันอัตราความเสียหายของรถซ่อมอู่ห้างสูงกว่า 75% โดยบริษัทมีการปรับตัวด้วยการปรับขึ้นเบี้ยให้สอดคล้องต้นทุน แต่เนื่องจากที่ผ่านมาประกันรถยนต์ส่วนใหญ่จะรับประกันประเภท 1 (รถใหม่ป้ายแดง) ฉะนั้นปีนี้อาจจะต้องมูฟไปเน้นรับประกันรถเก่ามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องขยายธุรกิจประกันที่ไม่ใช่รถ (น็อนมอเตอร์) เพิ่มขึ้น จากสัดส่วนปัจจุบันประกันรถยนต์ 70% และอีกน็อนมอเตอร์ 30%

“ในส่วนประกันที่ไม่ใช่รถอาจจะบุกประกันทรัพย์สินก่อน เพราะจุดแข็งที่เราอยู่ในกลุ่ม TCC เครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีโอกาสโตได้มาก” นายจิรวุฒิกล่าว