ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า

ค่าเงินบาท เงินบาท ตลาดหุ้น
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 27-31 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (27/1) ที่ระดับ 30.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 30.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากจากการเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจากนักลงทุนเนื่องจากความวิตกกังวลของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน รวมถึงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือนมกราคม ออกมาอยู่ที่ 131.6 สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 128.0 และยังมีตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนธันวาคม ซึ่งออกมาที่ 2.4% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.3% ในส่วนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงวันอังคาร (28/1) และวันพุธ (29/1) เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50%-1.75%

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเติบโตในอัตราปานกลางต่อไป โดยมีตลาดการจ้างงานอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง แต่ประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเพิ่มเติมว่า เฟดจะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี เขากล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงกดดันหลักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนจำนวนกว่า 56 ล้านคน ในเกือบ 20 เมืองของประเทศจีน รวมถึงเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดด ได้รับคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกเมือง เพื่อสกัดการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลง ซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นประมาณ 30% จากรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีการประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 7%

นอกจากนี้ จากกรณีการเสียบบัตรแทนกันในวาระการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีอาจมีการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ได้ โดยคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2563 ราว 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยปี 2563 อยู่ที่ระดับ 2.8% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.3% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 2563 เป็นขยายตัว 1.0% จากเดิมคาดจะขยายตัว 2.6%

Advertisment

ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนธันวาคมเกินดุล 4.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่เเกินดุล 3.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันในปี 2561 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 1.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ธปท.ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก และประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2563 ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.53-31.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1032/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 1.1034/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม และดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงที่นักลงทุนลดการถือครองภายหลังจากการระบาดของเชื้อไว้รัสโคโรน่า รวมไปถึงสถานการณ์ในการประชุมสหภาพยุโรปที่ประเทศอังกฤษจะเข้าร่วมในฐานะสมาชิกเป็นครั้งสุดท้าย

สำหรับในส่วนของการลงคะแนนเสียงเห็นชอบต่อประเด็น สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากยูโรโซน (Brexit) สมาชิกสภายุโรปได้มีมติ 621 ต่อ 49 เสียงเห็นชอบต่อข้อตกลงที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากยูโรโซนในวันที่ 31 มกราคมนี้ อย่างไรก็ดีตัวแทนเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือว่าในระยะเวลา 11 เดือน ต่อจากนี้ที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน จะต้องรีบสรุปหาข้อเจรจาเพื่อหาข้อตกลงทางการค้าและรูปแบบความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0990-1.1038 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 1.1028/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (27/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.99/109.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ109.53/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐโดยเมื่อวันอังคาร (21/1) ทิศทางค่าเงินเยนยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า หลังนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าเชื้อไวรัสโคโรนากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศจีนรวมไปถึงหลายภูมิภาคทั่วโลก และอาจส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108.57-109.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 109.01/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment