หุ้นไทยอ่วมดัชนีเดือน ก.พ.ส่อ 1,470 จุด

โบรกฯประเมินดัชนีหุ้นไทย ก.พ. เจอปัจจัยลบ “ไวรัสโคโรน่า-เศรษฐกิจทรุด-ลดเป้ากำไร บจ.” ทุบ “บล.เอเซีย พลัส” ชี้มีโอกาสทดสอบ 1,470 จุด แนะลงทุนหุ้นปันผลสูง พร้อมเปิดโผ 5 หุ้นเด่นบวกสวนตลาดในเดือน ม.ค. ฟาก “บล.ยูโอบีฯ” แนะกลยุทธ์ระยะสั้นทยอยสะสมหุ้นท่องเที่ยว

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ในเดือน ก.พ.นี้ ทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ SET (SET index) กรณีเลวร้ายที่สุด ดัชนีมีโอกาสปรับลดลงทดสอบ 1,470 จุด ขณะที่กรณีพื้นฐาน ประเมินแนวรับที่ 1,500 จุด โดยแนวรับดังกล่าวได้นับรวมปัจจัยเสี่ยงเรื่องของไวรัสโคโรน่า เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ และความเสี่ยงการปรับเป้ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2563 เอาไว้แล้ว

ซึ่งกลยุทธ์ลงทุนเดือน ก.พ. แนะนำลงทุนในหุ้นที่มีปันผลสูงอย่าง บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) บมจ.ไพลอน (PYLON) และ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) รวมถึงหุ้นที่ราคายังมีโอกาสปรับขึ้น และมีประเด็นบวกเฉพาะตัว เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM)

สำหรับช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไม่ดี แต่หุ้นที่ปรับขึ้นสูงสุดอยู่ในกลุ่มอาหาร การเงิน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และเกษตร โดยกลุ่มอาหารปรับขึ้นโดดเด่นมากที่สุด โดยเฉพาะ CPF ที่ได้อานิสงส์จากราคาสุกรฟื้นตัวและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ขณะที่กลุ่มเกษตร บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี (STA) ปรับขึ้นค่อนข้างดี จากราคายางที่ฟื้นตัวและเงินบาทที่อ่อนค่า ส่วนกลุ่มการเงินได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาลง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ เช่น บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ด้านกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และรีทได้อานิสงส์จากตลาดหุ้นที่ผันผวนสูง ส่วนกลุ่มที่ปรับลดลงต่ำสุด ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว ปิโตรเคมี สื่อ และธนาคาร

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในเดือน ม.ค. มีเพียง 11 หลักทรัพย์จาก 50 หลักทรัพย์ใน SET50 คิดเป็น 22% หรือ 1 ใน 5 ที่สามารถปรับบวกขึ้นนำตลาดได้ โดยกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และค้าปลีกเป็นกลุ่มที่ปรับลดลงมากที่สุด

ขณะที่ผลตอบแทนจากดัชนี SET50 ในเดือน ม.ค.ติดลบถึง 4.72% ต่ำกว่าผลตอบแทนจาก SET index ที่ติดลบ 4.16% สะท้อนว่าการปรับลดลงของตลาดหลักทรัพย์ฯในเดือน ม.ค. ได้รับแรงกดดันจากหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก

“แนวโน้มข้างหน้า ตลาดหุ้นไทยจะยังอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดหุ้นโลก เนื่องจากเครื่องยนต์สำคัญคือการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากไวรัสโคโรน่า โดยประเมินแนวรับในช่วงสั้นไว้ที่ 1,500 จุด หากหลุด 1,500 จุดไป มองแนวรับถัดไปที่ 1,480 จุด” นายกิจพณกล่าว

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้น นายกิจพณกล่าวว่า มองว่าหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวได้สะท้อนปัจจัยลบไปมากพอสมควรแล้ว ดังนั้น หลังจากนี้ จึงเป็นช่วงที่น่าสนใจเข้าทยอยซื้อสะสม ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) และ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)