ค่าเงินบาทเริ่มทรงตัว หลังความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าลดลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (11/2) ที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังความกังวลที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสเริ่มลดลง ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายสินทรัพย์สกุลปลอดภัย และกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง รวมถึงกลับเข้าซื้อค่าเงินของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ถูกเทขายอย่างหนักไปก่อนหน้านี้ โดยล่าสุดจากที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดวิทยาของจีน ได้ออกมาให้ข่าวว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าจะเริ่มลดลงในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดว่าการระบาดจะรุนแรงถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางหรือปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะทรงตัวและเริ่มลดลง

นอกจากนี้ สำหรับมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจจีนนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าทางธนาคารกลางจีนจะสามารถรับมือได้ โดยล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ออกมาให้คำมั่นว่า จะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการสนับสนุนภาคธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง หลังจากธนาคารกลางอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ตลาดเงินไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค หลังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ได้แจ้งว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 14,840 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 242 ราย ภายใน 1 วัน โดยการเพิ่มขึ้นของตัวเลขดังกล่าว มีสาเหตุจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การวินิจฉัย โดยให้นับรวมผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก (Clinically diagnosed cases) ซึ่งคือกลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ยังไม่ทราบผลการตรวจตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และให้นับรวมกรณีที่ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการตรวจทางวิทยาศาสตร์ด้วย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.09-31.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยมีสาเหตุจากการลดความกังวลของเรื่องไข้หวัดไวรัสโคโรน่า นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนหลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริหารการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคาร (11/2) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังมีการขยายตัวปานกลาง และปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก็ยังคงมีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความเสี่ยงในช่วงขาลงต่อเศรษฐกิจสหรัฐได้เบาบางลงในช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้คลี่คลายลง และการขยายตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณการมีเสถียรภาพ ขณะที่แนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าได้ลดน้อยลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีนายพาวเวลเตือนว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยระบุว่า เฟดกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และผลกระทบที่มีต่อจีน รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญนั้น ในวันพฤหัสบดี (13/2) ตัวเลชดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคม ออกมาใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยปรับตัวเพิ่มขึันร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันอังคาร (11/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0909/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 1.0951/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงอยู่ในทิศทางการอ่อนค่าโดยได้อ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนในสัปดาห์นี้ เนื่องจากความกังวลด้านสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม โดยในวันพุธ (12/2) สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม ออกมาลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 4.1 เทียบกับปีก่อนหน้า และในวันศุกร์ (14/2) เยอรมนีประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ออกมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนหากเทียบรายไตรมาส จีดีพีอยู่ที่ระดับทรงตัว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0826-1.0925 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 1.0843/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันอังคาร (11/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 109.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่าหลังจากที่สถานการณ์ความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเริ่มผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตามแนวต้านที่ระดับ 110.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง อีกทั้งในช่วงปลายสัปดาห์ทางจีนมีการปรับทวนยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วย สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ญี่ปุ่นเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ออกมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 109.60-110.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 109.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ