ค่าเงินบาทอ่อนค่า รับสถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/2) ที่ระดับ 31.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (25/2) ที่ระดับ 31.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลหลัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้แข็งค่าขึ้นไปอย่างมาก โดยดอลลาร์ถูกกดดันหลังทางการสหรัฐออกมากล่าวว่าเชื้อไวรัส Covid-19 มีโอกาสแพร่ระบาดในสหรัฐได้ในวงกว้างจนอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างรุนแรง อีกทั้งการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ในสหรัฐยังทำได้จำกัดและมีความล่าช้า จึงส่งผลกดดันต่อเนื่องให้คาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ภายในเดือนมิถุนายปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 78 นอกจากนี้เมื่อคืน (25/2) มีประกาศรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก Conference Board ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 130.7 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 132.2

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากเรื่องการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในประเทศที่ในวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในตอนแรกผู้ติดเชื้อรายนี้ได้ปกปิดข้อมูลว่ามีการเดินทางไปประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้แพทย์และพยาบาลรวมทั้งผู้ที่มีการติดต่อกับผู้ติดเชื้อรายนี้ เข้าข่ายเป็นผู้ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 แย่ลงไปอีก ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลอย่างมากว่าจะกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากตลาดหุ้นของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนหลุดระดับ 1,400 แล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.75-1.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.87/31.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (26/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0868/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/2) ที่ระดับ 1.0855/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากเมื่อวานนี้ (25/2) มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนีไตรมาส 4/2019 ออกมาที่ระดับร้อยละ 3 เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสเดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 102 ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 99 ทำให้ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซนผ่อนคลายลง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในประเทศแถบยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศอิตาลี โครเอเชีย และมีแนวโน้มจะมีการแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0862-1.0898 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0888/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (26/2) เปิดตลาดที่ระดับ 110.21/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/2) ที่ระดับ 110.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นอกประเทศจีนเลวร้ายลง โดยมียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ที่ในอิหร่านมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่จำนวน 95 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 16 ราย ทั้งนี้อิหร่านเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้นอกประเทศจีน โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.13-110.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.35/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ เดือนมกราคม (26/2), ตัวเลขประกาศครั้งแรกของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 4/2019 (27/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดัชนีราคาการใช้จ่านด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (28/2), ดัชนียอดค้าปลีกของญี่ปุ่น เดือนมกราคม (28/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.00/-1.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +5.80/+7.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ