เคแบงก์ ไพรเวท ชูกลยุทธ์ 3S บริหารพอร์ตคนรวย เน้นสร้างผลตอบแทนยั่งยืนรับมือตลาดผันผวนทั่วโลก

เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ชูกลยุทธ์ “3S” บริหารพอร์ตลูกค้าเศรษฐี เน้นสร้างผลตอบแทนยั่งยืน-เล็งบริหารองค์กรสาธารณกุศล-พร้อมมุ่งหาธุรกิจ S Curve ให้ธุรกิจครอบครัว 5-6 พันราย เผย ภาพรวมการลงทุน 2 เดือน สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 0.5-0.7% สวนทางตลาดติดลบ มั่นใจกลไกคำแนะนำการลงทุนได้ผล

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการบริหารความมั่งคั่งในกลุ่มลูกค้าที่มีสินทัพย์สูง หรือ Private Banking นับตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบัน พบว่า ธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.5-0.7% ถือว่าค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับสภาพตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวน และทุกตลาดติดลบหมด

สะท้อนว่าคำแนะนำในการลงทุนของธนาคารใช้ได้ผล ซึ่งแนะนำการกระจายพอร์ตการลงทุนพื้นฐานของธนาคารประมาณ 20% จะลงทุนในหุ้น และอีก 80% จะเป็นตราสารหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าลูกค้าถือเงินสดอยู่ที่ 5-11% เพราะหากตลาดกลับมาลูกค้าจะมีพร้อมใช้ และกระจายการลงทุนในทองคำ เพื่อพยุงผลตอบแทนลูกค้า แม้ว่าสัดส่วนพอร์ตการลงทุนอาจจะติดลบบางๆ แต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์ระบาดไวรัส Covid-19 คลีคลายตลาดจะกลับมาเป็นบวกได้

“ภาพรวมการลงทุนทุกคนจะวิ่งไปหาสิ่งที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะตั้งแต่ต้นปีมาเจอสถานการณ์อิหร่าน ไวรัสระบาด ทำให้การลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะการเน้นสร้างผลตอบแทนระยะสั้นจะเป็นเรื่องรองในอนาคต”

ดังนั้น กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของลูกค้ากลุ่มบุคคล Private Banking ในปี 2563 ธนาคารจะเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน แทนการสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น โดยการยกระดับการบริหารความมั่งคั่งครบวงจร และการเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร Lombard Odier ภายใต้กลยุทธ์ “3S” ได้แก่ 1. Sustainable investment approach เน้นการลงทุนในบริษัทหรือกองทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่มีความยั่งยืน โดยจะกองทุน K-HIT และกองทุน K-Change มูลค่ากองละ 1,200 ล้านบาท สร้างผลตอบทนเฉลี่ย 10%
2.New dimension of wealth sharing ในปีนี้ธนาคารจะเข้าไปช่วยบริหารจัดการสินทรัพย์ในองค์กรสาธารณกุศล เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม เนื่องจากที่ผ่านมามีองคิกรการกุศลต่างๆ มากมายมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังคงมีรูปแบบการลงทุนในเงินฝาก โดยธนาคารต้องการเข้าไปช่วยให้คำแนะนำและให้องค์ความรู้ ช่วยบริหารความเสี่ยง และปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึงการแนะนำองค์กรหรือมูลนิธิที่ต้องการจัดตั้งใหม่ เชื่อว่าหากธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนมากกว่า 2% จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งองค์กรมูลนิธิสามารถนำไปกระจายสู่รากหญ้าได้

และ 3. S-Curve re-innovation ธนาคารจะเข้าไปช่วยลูกค้าที่เป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัว ซึ่งต้องการหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ โดยธนาคารจะเชื่อมระหว่างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องการเงินลงทุน และลูกค้าที่ต้องการแสวงหาโอกาสการเติบโตใน S-Curve ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารสามารถเชื่อมลูกค้า 1 รายเข้ากับบริษัทเทคโนโลยีในประเทศอิสราเอลสำเร็จ ปัจจุบันลูกค้าธนาคารอยู่ระหว่างการลงทุนในสัดส่วน 10% และมีลูกค้าอีก 1 รายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นต้น จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าราว 5,000-6,000 ครอบครัว