ตลาดสินเชื่อรายย่อยแข่งเดือด นาโนไฟแนนซ์วูบ 2 หมื่นล้าน-“กรุงศรี” ปรับเกมสู้

เปิดข้อมูลแบงก์ชาติเผยปี’62 ธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” ชะลอหนัก “สินเชื่อคงค้าง-จำนวนผู้กู้” วูบทุกไตรมาส TMB Analytics ชี้ตลาดแข่งขันดุเดือดมากขึ้น “แบงก์-น็อนแบงก์” โดดลงมาแข่งมากขึ้น ขณะที่ “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” เบรก “สินเชื่อเถ้าแก่ทันใจ” ชี้ต้นทุนสูง-ไม่คุ้มค่า หันเปลี่ยนโมเดลปล่อยสินเชื่อใหม่จับมือพันธมิตรดึงข้อมูลฐานลูกค้า นำร่องปล่อยกู้ “ช่าง-รับเหมารายย่อย” ลูกค้า “Mega Home” ตั้งเป้าสินเชื่อปีแรก 2 หมื่นล้าน ฟาก “FSMART” ขอเริ่มปล่อยกู้ปีหน้า ปีนี้ลุยจำนำทะเบียนรถก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับสถิติสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ (นาโนไฟแนนซ์) จนถึง ณ สิ้นปี 2562 พบว่า มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้นอยู่ที่ 1,172,889 บัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 19,318 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่มีจำนวนบัญชี 2,038,841 บัญชี และยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 35,635 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป (NPL) อยู่ที่ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 803 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 40 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 32 ราย

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ในปี 2562 ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนบัญชีที่ลดลงเกือบ 1 ล้านบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้าง ที่ลดลงไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเหตุผลของการชะลอตัว ไม่น่าจะเป็นเพราะคุณภาพหนี้ เนื่องจากตัวเลขเอ็นพีแอล แม้จะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนก็ยังไม่ได้สูง แต่น่าจะมาจากการที่ลูกค้ารีไฟแนนซ์ไปใช้สินเชื่ออื่นในระบบธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) มากกว่า

“ดูแล้วแนวโน้มในปี 2563 นี้ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์คงจะลำบาก ต้องเจอภาวะที่แข่งขันยากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ก็หันมาปล่อยสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อไม่มีหลักประกันมากขึ้น เพราะต้องบริหารจัดการส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (NIM) ดังนั้น ก็จะดึงลูกค้าตลาดนาโนไฟแนนซ์ไปพอสมควร เพราะดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์ถือว่าแพง เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยแบงก์กับน็อนแบงก์ นอกจากนี้ การปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หากจะให้ต้นทุนต่ำ คงต้องปรับไปใช้ช่องทางดิจิทัล มากกว่าจะใช้โมเดลปล่อยกู้แบบเดิมที่ใช้บุคคลปล่อยสินเชื่อ รวมถึงตามเก็บหนี้”

นางสาวญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์ “กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้หยุดให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ภายใต้ชื่อ “เถ้าแก่ทันใจ” ไปแล้ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรายได้ โดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงานที่ไปสำรวจตลาด ตรวจสอบลูกค้า และติดตามเรียกเก็บเงินโดยสินเชื่อที่ปล่อยไปก่อนหน้าหนี้ ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างเหลืออยู่ที่ 43 ล้านบาท จำนวนลูกค้าคงเหลือ 2,700 บัญชีเท่านั้น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเรียกเก็บหนี้ ส่วน NPL อยู่ที่ 11%

“เราไม่ได้ทิ้งใบอนุญาต (ไลเซนส์) นาโนไฟแนนซ์ แต่เราจะเปลี่ยนวิธีและโมเดลการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะตอนนี้ สามารถใช้ data (ข้อมูล) ในการปล่อยกู้ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเดิม” นางสาวญาณีกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทจะเปลี่ยนจากการปล่อยสินเชื่อ “เถ้าแก่ทันใจ” เป็นสินเชื่อ “เฟิร์สช้อยส์บิซ” (FirstchoiceBiz) โดยหันมาปล่อยสินเชื่อผ่านฐานข้อมูลลูกค้าของพันธมิตร (partnership based lending) ซึ่งจะใช้ข้อมูลอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินมาใช้ในการประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ เช่น พฤติกรรมผู้กู้ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า “information based lending”

นางสาวญาณีกล่าวว่า ภายในกลางเดือน มี.ค.นี้ บริษัทจะเริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อ โดยร่วมกับ Mega Home ศูนย์รวมสินค้าบ้านและวัสดุก่อสร้างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ HomePro โดยในช่วงทดลองระยะแรก บริษัทจะคัดกรองคุณสมบัติลูกค้าออกเป็นเกรด ซึ่งจะพิจารณาจากข้อมูลการสั่งซื้อสินค้า ประเภทสินค้า สภาพคล่องในการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง และช่องทางการซื้อผ่านสมาชิก เป็นต้น

“เราจะทดลองปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกที่เข้ามาซื้อของใน Mega Home ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ กลุ่มช่าง และกลุ่มรับเหมารายเล็ก ซึ่งเบื้องต้นฐานลูกค้ากลุ่มนี้มีราว 2 แสนราย โดยคาดว่าจะมีลูกค้าเข้าเกณฑ์ ประมาณ 5-6 หมื่นราย แต่บริษัทตั้งเป้าเข้าไปปล่อยสินเชื่อปีแรกที่ 2 หมื่นราย วงเงินเฉลี่ย 4-5 หมื่นบาทต่อราย ซึ่งวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับข้อมูลลูกค้า” นางสาวญาณีกล่าว

นางสาวญาณีกล่าวอีกว่า ภายในปีนี้บริษัทจะขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ผ่านทางพันธมิตรรายอื่นเพิ่มเติมอีก 2-3 ราย ซึ่งจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจรายย่อย (retail) กลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Grab เป็นต้น และกลุ่มช็อปปิ้งออนไลน์

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ให้บริการตู้เติมเงินออนไลน์ “บุญเติม” กล่าวว่า บริษัทได้ไลเซนส์นาโนไฟแนนซ์มาตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ในปี 2564 เนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถก่อน