บาทอ่อนค่า หลังตัวเลขส่งออกนำเข้าต่ำกว่าคาด

ค่าเงินบาท เงินบาท ตลาดหุ้น
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (30/3) ที่ระดับ 32.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามภูมิภาคหลังประเทศจีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือนมีนาคมออกมาดีกว่าที่คาดไว้ โดยอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 35.7 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ เดือนมีนาคมเผยออกมา 52.3 จุด ดีกว่าที่คาดการณ์เช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างได้ประเมินว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อย ดัชนีที่พุ่งสูงขึ้นนี้หมายความว่าทางประเทศจีนมีการลงทุนภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่มขึ้นมามาก สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่รวดเร็วก่อนประเทศอื่น ๆ ในโลกจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตามองตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐในสัปดาห์นี้ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ คาดการณ์ตัวเลขการว่างงานอาจสูงถึง 32% และชาวอเมริกันอาจสูญเสียตำแหน่งงานถึง 47 ล้านตำแหน่ง ในระหว่างวันค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในประจำเดือนกุมภาพันธ์มีการหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง

นอกจากนี้การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของประเทศจีน มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น ด้านการส่งออกขยายตัว 3.6% ในเดือนกุมภาพันธ์ หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% ด้านการนำเข้าหดตัว 7.8% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวเพียง 0.1% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามทางกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ก.ล.ต., สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.57-32.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 1.1010/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/3) ที่ระดับ 1.1068/71 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมากหลังดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคการบริโภคในยูโรโซนประจำเดือนมีนาคมหดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกดัชนีโดยเผยออกอยู่ที่ระดับ 94.5 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 103 จุด ทั้งนี้นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในยูโรโซนอย่างใกล้ชิดหลังการแพร่ระบาดไม่ได้ลดความรุนแรงลง เช่น ประเทศอิตาลี จำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดทะลุเกิน 100,000 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตสูงเกิน 10,000 ราย นอกจากนี้ในประเทศสเปนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเลยจำนวนผู้ติดเชื้อของประเทศจีนไปแล้วเช่นกัน

ในระหว่างวันค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า เบื้องหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญเผยออกมาอ่อนแอ ได้แก่ ดัชนีเงินเฟ้อของประเทศฝรั่งเศส เผยออกมาขยายตัวเพียง 0.7% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบเป็นรายปี จากเดิมขยายตัวที่ 1.6% และดัชนีเงินเฟ้อของยูโรโซนขยายตัว 0.7% ในเดือนมีนาคมต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0985-1.1040 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0995/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (31/3) ที่ระดับ 108.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (30/3) ที่ระดับ 107.85/88 เยน/ดอลาร์ ค่าเงินเยนอ่อนลงเนื่องจากนักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยบางส่วน หลังตัวเลขเศรษฐกิจประเทศจีนออกมาแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าเป็นไปอย่างจำกัด เพราะนักลงทุนยังกังวลถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 37,645 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ 784.316 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.94-108.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของอังกฤษไตรมาส 4/2019 (31/3), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐเดือนมีนาคม Conference Board (31/3), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐเดือนมีนาคมจาก ADP (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี เดือนมีนาคม (1/4), ดุลการค้าของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (2/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (2/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยูโรโซน เดือนมีนาคม (3/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของอังกฤษเดือนมีนาคม (3/4), การจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐเดือนมีนาคม (3/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐเดือนมีนาคม (3/4) อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนมีนาคม (3/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.35/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -0.40/1.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ