ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังมีข้อสรุปถึงการขยายระยะเวลาลดกำลังผลิตจากการประชุมกลุ่มโอเปก

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 1 และปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเดือน เนื่องจากผู้ผลิตหลักในกลุ่มโอเปกได้เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา โดยกลุ่มผู้ผลิตหลักได้ให้ข้อสรุปว่ากลุ่มผู้ผลิตจะรอดูสถานการณ์จนถึงเดือน ม.ค. 61 แล้วจึงจะตัดสินใจว่าจะมีการขยายระยะเวลาในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามบางประเทศได้ให้ความเห็นว่าอาจจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้ตอนประชุมโอเปกอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 60 นี้

+ ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นการลดกำลังผลิต ได้มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่ำกว่า 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่ากำลังการผลิตที่ได้ตกลงกับกลุ่มโอเปกไว้ ขณะที่รัสเซียได้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเช่นเดียวกันจนถึงเดือน มี.ค. 61 เพื่อที่จะลดภาวะอุปทานล้นตลาดลง

+ Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ณ วันที่ 22 ก.ย. ปรับลดลง 5 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 744 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 59 โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวลง

– อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.51 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับก่อนหน้าที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน Harvey ที่ U.S. Gulf Coast เมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

Advertisment

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ สาเหตุจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่สิงคโปร์ปรับลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังถูกกดดันจากอุปทานที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศจีน

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากมีอุปสงค์เข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามราคาถูกกดดันจากอุปทานที่ส่งออกเพิ่มขึ้นในบางช่วงจากอุปสงค์ที่ลดลงในฤดูฝน

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Advertisment

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงปิดดำเนินการกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 14.2 ของกำลังการผลิต โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 472.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 3 สัปดาห์ติดต่อกันและสูงกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 60 ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดพายุ Harvey ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดปริมาณการผลิตในเดือน ธ.ค. จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของแหล่งผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ส.ค. ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา นอกจากนี้ยังต้องจับตาการหารือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่