นักลงทุนคลายความกังวลและลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลง หลัง ปธน.ทรัมป์มีแผนจะเปิดประเทศ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 13-17 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (13/4) ที่ระดับ 32.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ เนื่องจากเป็นเทศกาลวันหยุดวันขอบคุณพระเจ้า หรืออีสเตอร์ ของหลาย ๆ ประเทศ และวันหยุดสงกรานต์ที่ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศไม่เป็นวันหยุดก็ตาม แต่ก็มีการซื้อขายที่เบาบาง นอกจากนั้นยังขาดปัจจัยใหม่ที่จะกำหนดทิศทางตลาด โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.44-32.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ 32.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของดัชนีดอลลาร์ในระหว่างสัปดาห์เคลื่อนไหวผันผวน โดยปัจจัยยังคงเป็นความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่างสัปดาห์มีการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน สหรัฐเปิดเผยดดัชนีราคานำเข้าร่วงลง 2.3% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 หลังจากที่ร่วงลง 0.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ และจากที่คาดการณ์ว่าจะร่วงลง 3.2% ในเดือนมีนาคม และหากเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าร่วงลง 4.1% ในเดือนมีนาคม เป็นการปรับตัวลดลงมากสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 นอกจากนี้ ดัชนีราคาส่งออกลดลง 1.6% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกร่วงลง 3.6% ซึ่งปรับตัวลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559

ขณะที่กระทรวงแรงงานเปิดเผย จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ระดับ 5,245 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5 ล้านราย ขณะที่ทางส่วนของมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของสหรัฐนั้น ทางประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดเผยแนวทางใหม่ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขในการเริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมภายหลัง จากที่มีรายงานว่าการติดเชื้อมีการชะลอตัวลง หลังจากที่รัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แผนการดังกล่าวยังไม่ได้มีการระบุวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะสามารถเปิดเศรษฐกิจสหรัฐได้อีกครั้งเมื่อไหร่

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (13/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1096/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 1.1018/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ โดยประธานาธิบดี เอมมานูเอช มาครอง ของฝรั่งเศสได้เปิดเผยว่าจะขยายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสถาบันสาธารณสุขภายในประเทศ ขณะที่ทางสหราชอาณาจักร รัฐบาลอังกฤษประกาศในวันพฤหัสบดี (16/4) ว่าอังกฤษจะขยายเวลาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 สัปดาห์จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0815-1.0990 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ 1.0821/0825 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (13/4) เปิดตลาดที่ระดับ 107.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาด เมื่อวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 108.69/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (16/4) ว่า นายรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ได้ตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศท่ามกลางความพยายามในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในโตเกียว โอซากา และอีก 5 จังหวัด โดยการประกาศครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายฉบับแก้ไขล่าสุดที่ญี่ปุ่นประกาศใช้ในเดือนที่แล้ว ซึ่งให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 7 ภูมิภาคสามารถสั่งปิดโรงเรียน และกิจการบางประเภทได้ในเทศกาลวันหยุดโกลเด้นวีคนี้ (2-6/5) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.91-108.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (17/4) ที่ระดับ  107.78/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค ทางสำนักงานศุลกากรจีน (จีเอซี) รายงานว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนเริ่มส่งสัญญาณมีเสถียรภาพในเดือนมีนาคม หลังยอดส่งออกและยอดนำเข้าต่างก็อยู่ในระดับสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด โดยยอดส่งออกเดือนมีนาคมลดลง 3.5% เทียบรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.4% โดยยอดนำเข้าส่งออกเดือนมีนาคม คำนวณในรูปสกุลเงินหยวน ขณะที่มูลค่าการค้าสินค้าระหว่างประเทศในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 2.45 ล้านล้านหยวน หรือ 3.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.8% เมื่อเทียบรายปีหลังจากที่ลดลง 9.5% ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์

นอกจากนี้มีรายงานโดยสำนักข่าวซินหัวว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลง 0.2% ตามมาตรการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 PBOC ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLF ระยะ 1 ปีวงเงิน 1 แสนล้านหยวน (1.42 หมื่นล้านดอลลาร์) ที่ปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ลงเหลือ 2.95% เทียบกับระดับก่อนหน้าที่ 3.15% โดยธนาคารกลางจีนได้เปิดตัวโครงการ MLF ในปี 2557 เพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์และธนาคารภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการรักษาสภาพคล่อง ด้วยการอนุญาตให้ธนาคารเหล่านี้สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางโดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

ในส่วนของราคาน้ำมันทางกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมฉุกเฉิน โดยโอเปกพลัสได้บรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการประชุมฉุกเฉินรอบที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (13/4) หลังจากที่มีการจัดการประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ทางที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับลดกำลังการผลิตลง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ทางโอเปกพลัสยังมีมติปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะปรับลด 6 ล้นบาร์เรล/วัน ตั้งแต่มกราคม 2564 ไปจนถึงเมษายน 2565

อย่างไรก็ดี ปัจจัยนี้ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนัก นอกจากนั้น ทางโกลด์แมน แซกส์ ได้ระบุว่า โอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน นั้นถือว่าน้อยเกินไปและยังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าราคาน้ำมันดิบโลกจะร่วงลงในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากสต๊อกน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตเพื่อลดอุปทานน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม