ลอมบาร์ดฯ ชี้เฟดทำคิวอี-ลดดอกเบี้ยเร็ว พยุงตลาดตราสารหนี้ฟื้นตัวแบบ V Shape

“ลอมบาร์ด โอเดียร์” ชี้ธนาคารกลางเร่งอัดสภาพคล่อง-ลดดอกเบี้ย เดินนโยบายการเงิน-คลังเร็ว มองเศรษฐกิจ-ตลาดตราสารหนี้ฟื้นตัวเป็น V Shape ยันผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ยแค่ 2-2.5% เทียบวิกฤตปี 51-52 ทะลุ 18-19% ด้าน “กสิกรไทย” แนะจัดพอร์ลงทุน กอง K-APB ปรับพอร์ตเชิงรุก คาดได้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก

นายดีราช บาจาช Head of Asia Credit,  Lombard Odier กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านพบว่าตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมาก โดยจะเห็นนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้กับวิกฤตในปี 2551-2552 จะพบว่าตลาดตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ (Defaulted) สูงถึง 18-19% แต่ปัจจุบันเป็นวิกฤตทางด้านดีมานด์ คนไม่ใช่จ่ายเท่านั้น และมีสัดส่วนผิดนัดชำระหนี้เฉลี่ย 2-2.5% ต่อปี

ทั้งนี้ ได้ตั้งเหตุการณ์ไว้ 2 สมมุติฐาน คือ 1.หากภายในครึ่งปีหลังสามารถเปิดประเทศขึ้นมาได้ และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดทุนหรือตลาดตราสารหนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้แบบวีเชฟ (V Shape) และ 2.กรณีที่เกิด Lock Down และกลับมา ReLock Down อีกครั้ง จะเห็นตลาด
กลับมาฟื้นตัวไปเป็นเหมือนเดิมอาจจะต้องใช้เวลา และเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมากๆ

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้มีความรวดเร็วในการแก้ปัญหา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และธนาคารกลางประเทศต่างๆ เข้ามาแก้ปัญหาค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปี 2551-2552 ที่ใช้เวลาเป็นเดือนในการออกนโยบาย แต่ครั้งนี้ภายใน 1-2 สัปดาห์จะเห็นว่าเฟดมีการประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเข้ามาซื้อตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non-Investment Grade) และลดอัตราดอกเบี้ย โดยขนาดของนโยบายการเงินและการคลังที่เข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาล ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเห็นตลาดถึงจุดต่ำสุด แม้ว่าความผันผวนยังคงมีในระยะสั้น

“เราเห็นนโยบายที่เฟดทำ และเริ่มเห็นในบางประเทศที่เริ่มซื้อตลาดตราสารหนี้แล้ว โดยมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายและสามารถเข้าไปรับซื้อตลาดตราสารหนี้ได้ แม้ว่านโยบายอาจจะช้ากว่าสหรัฐฯ แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เราเริ่มเห็นจุดต่ำสุดในครึ่งปีแรกได้”

ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่า ในภาวะตลาดการลงทุนที่มีความผันผวน ธนาคารแนะนำการจัดสรรพอร์ตการลงทุนของ K-APB ว่า ธนาคารยังคงน้ำหนักการลงทุนในระดับ 3% สำหรับพอร์ต Model 1 ซึ่งประกอบด้วยการลงทุนในพอร์ตหลัก 60% และพอร์ตเสริม 40%

ส่วนอีก 5% สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นมาหรือ Model 2 ประกอบด้วย การลงทุนในพอร์ตหลัก 50% และพอร์ตเสริม 50% ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมั่นใจว่าการลงทุนใน K-APB ยังคงเหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกนาน สามารถคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากในระยะยาว และยังเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกองทุน  K-APB ยังจะช่วยพอร์ตเสริมในส่วนของการเพิ่มรายได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กองทุน K-APB เป็นกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน LO Funds – Asia Value Bond Fund, (USD) ที่ลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนโดยจะลงทุนในตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (รวมประเทศญี่ปุ่น) ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (Non – Investment Grade) และตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Unrated Securities) ได้

“ตลาดที่ผันผวนในช่วงก่อนหน้านี้เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เมื่อภาวะตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วคาดว่าราคาของตราสารหนี้จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาที่ระดับเดิมได้และสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ดีดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา”