หุ้นแอร์ไลน์ซมพิษไข้โควิด กลับมาบินใน ปท.ปลุกกำไรไม่ขึ้น

แฟ้มภาพ

ธุรกิจสายการบินถือเป็นอีก 1 ธุรกิจที่กำลังเผชิญภาวะความยากลำบาก อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แต่ละประเทศมีมาตรการ “ล็อกดาวน์” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ทุกสายการบินต้อง “หยุดบิน” ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และสภาพคล่องของธุรกิจ จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่า บางสายการบินในบางประเทศส่อเค้าว่าจะ “ล้มละลาย” ไม่เว้นแม้แต่สายการบินในประเทศไทย

สภาพคล่องหาย-รายได้หด

“ปุญญภพ ตันติปิฎก” นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ “ธุรกิจการบินของไทยจะก้าวผ่านอย่างไรในวิกฤตโควิด-19 ?” โดยระบุว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเดินทางทางอากาศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งทำให้สายการบินต้องจอดเครื่องบินไว้บนพื้นดินมากอย่างเท่าที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยธุรกิจสายการบินสัญชาติไทยมีแนวโน้มรายได้หดตัวถึงราว -60% โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศ อีกทั้งการขาดรายได้จะส่งผลให้สภาพคล่องโดยเฉลี่ยมีเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ได้ประมาณ 3 เดือน สายการบินสัญชาติไทยหลายรายจึงได้เร่งปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาสถานะทางการเงิน โดยในต่างประเทศ ภาครัฐแต่ละประเทศได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจสายการบินและบุคลากรทางการบิน ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมในหลายรูปแบบ

“สำหรับไทย ภาครัฐยังมีความท้าทายอีกหลายประการที่ต้องพิจารณาให้รอบด้านในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินที่ได้รับผลกระทบ ทั้งรูปแบบและระดับความเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ และประโยชน์ที่จะได้รับ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงนัยต่อฐานะการคลังของประเทศในอนาคตด้วย”

“AAV-BA” รับอานิสงส์เปิดบิน

ขณะที่หลักทรัพย์ของแต่ละสายการบินที่สะท้อนแนวโน้มธุรกิจ ล่าสุดมีปัจจัยใหม่ที่รัฐบาลเตรียมผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยจะเปิดให้แต่ละสายการบินกลับมาบิน “ในประเทศ” ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป

“สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินว่า การกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศนั้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้น บมจ.ท่าอากาศยาน (AOT) และหุ้นในกลุ่มสายการบินทุกราย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเปิดให้บริการเส้นทางบินในประเทศได้ตามปกติ แต่ตลาดหุ้นให้น้ำหนักกับประเด็นถัดไปว่า สายการบินจะสามารถทำกำไรได้ดีกว่าประมาณการที่นักวิเคราะห์จัดทำหรือไม่

โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสวิเคราะห์ว่า การเปิดเส้นทางบินในประเทศจะส่งผลบวกต่อสายการบินที่บินในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) แต่เนื่องจากฐานลูกค้าที่แตกต่างกัน จึงประเมินว่า AAV จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในประเทศ จึงคาดว่าจะมีความต้องการใช้ (demand) กลับมา ส่วนลูกค้าของ BA ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต่อเครื่องจากเที่ยวบินต่างประเทศ ดังนั้นจำนวนผู้โดยสารอาจกลับมาไม่มากเท่า AAV

ปั้นกำไรยากแม้เริ่มกลับมาบินได้

“ฝ่ายวิจัยคาดว่าสายการบินจะเริ่มกลับมาบินได้ในไตรมาส 2 และจะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ในกรณี AAV ยังมีการรักษาระยะห่าง (social distancing) ในระยะสั้นจึงเป็นข้อจำกัด ที่แม้จะกลับมาบิน ก็อาจจะทำกำไรได้ไม่เท่าที่เราเคยประมาณการเอาไว้ เพราะนึกภาพเครื่องบินหนึ่งลำ ต้องนั่งที่นั่งเว้นที่นั่ง อีกทั้งไม่สามารถเสิร์ฟอาหารได้ ดังนั้นโอกาสที่จะทำกำไรให้เท่ากับช่วงปกติ เต็มที่ก็ทำได้แค่เท่ากัน แต่เราไม่เห็นโอกาสที่กำไรจะปรับขึ้น (upside) กว่าประมาณการที่ทำเอาไว้”

ส่วนผลต่อ AOT เนื่องจากค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของเส้นทางบินในประเทศต่ำกว่าต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงไม่ได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ เช่น ดิวตี้ฟรี เป็นต้น ดังนั้น ประมาณการรายได้สนามบินในปี 2563 จึงไม่มี upside เช่นกัน

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดการณ์กำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มขนส่งทางอากาศ ปี 2563 ติดลบ 29,044 ล้านบาท จากปี 2562 ที่กำไรสามารถเติบโตได้ที่ 12,861 ล้านบาท

“ราคาหุ้นในกลุ่มตอนนี้ปรับขึ้นเกินมูลค่าพื้นฐานของปี 2563 ที่เราประเมินเอาไว้ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นปรับขึ้น สะท้อนความคาดหวังเชิงบวกเร็วเกินไป จึงไม่แนะนำให้ลงทุน แม้จะสามารถเก็งกำไรได้ แต่ก็ต้องระวัง หรือถ้านักลงทุนติดอยู่ ก็คงต้องถือเป็นการลงทุนระยะยาวไปถึงปี 2564” นายสุวัฒน์กล่าว

ส่วนกรณีที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ขยายเวลาห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศให้บริการไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 พ.ค.นั้น “สุวัฒน์” มองว่าแม้จะเป็นประเด็นลบต่อกลุ่มสายการบิน แต่ตลาดก็คาดการณ์ไว้แล้ว โดยเบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่า หากเที่ยวบินระหว่างประเทศไม่สามารถทยอยกลับมาเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3 จะเป็นความเสี่ยงขาลง (downside) ต่อประมาณการกำไรในปีนี้ต่อไป

แนะหลีกเลี่ยงหุ้นสายการบิน

“วิจิตร อารยะพิศิษฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นสายการบิน แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือและอนุญาตให้สายการบินกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศวันที่ 1 พ.ค.นี้ก็ตาม เนื่องจากหลังเปิดให้บริการ สายการบินจะได้รับผลประโยชน์จากมาตรการที่ AOT ให้ความช่วยเหลือลดลง อีกทั้งมาตรการรักษาระยะห่างน่าจะยังคงอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (cabin factor) ปรับขึ้นได้ไม่มาก โดยคาดว่าหลาย ๆ สายการบินจะมีการปรับขึ้นค่าตั๋วโดยสาร แต่จะไม่ช่วยหนุนผลประกอบการมากนัก ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศก็ยังคงปิดอยู่

“ราคาหุ้นในกลุ่มที่บวกกลับขึ้นมารับประเด็นความช่วยเหลือต่าง ๆ เราไม่แนะนำให้ไล่ซื้อในราคาโซนนี้ โดยธุรกิจสายการบินยังค่อนข้างเหนื่อย เพราะเป็นธุรกิจที่ถึงแม้ไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ก็สู้กันหนักอยู่แล้ว พอเกิดโควิดจึงยิ่งวิกฤต ดังนั้น จึงยังไม่น่าลงทุน ซื้อขายเก็งกำไรก็ไม่แนะนำ เพราะราคาหุ้นขึ้นมาแล้ว” นายวิจิตรกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสายการบินคงรอดูว่า ภาครัฐจะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร หลังจากเข้าไปหารือกับกระทรวงการคลังมาแล้ว เพราะแม้จะเริ่มกลับมาบินได้บางส่วน แต่วิกฤตรอบนี้ถือว่าธุรกิจ “บอบช้ำ” ค่อนข้างมาก กว่าจะฟื้นกลับมาได้คงใช้เวลาอีกนานเลยทีเดียว