‘บรรยง’ ไขรหัสฟื้นการบินไทย เติมเงินสดแสนล้าน สู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

"บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน

ท่ามกลางความตกต่ำของ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ถูกลอยแพไปขึ้นฝั่งคาอยู่ที่ “ศาลล้มละลาย”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน อดีตบอร์ดการบินไทย ซึ่งเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยื่นมือเข้าช่วยอดีตรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศ ด้วยหวังว่าจะเกิดการถอดบทเรียน นำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ

แนะซ่อมสถานะการเงิน “การบินไทย”

“บรรยง” มองว่า การที่รัฐบาลเลือกใช้กระบวนการฟื้นฟูการบินไทยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย เป็น “ทางเลือกที่ถูกต้อง” ดีกว่าปล่อยให้ล้มละลายไปเฉย ๆ หรือใส่แต่เงินเข้าไป โดยไม่มีหลักประกันว่าจะกลับมาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างกำไรได้อย่างไร

แต่ระหว่างนี้ รัฐบาลควรเร่งซ่อมสถานะทางการเงิน (balance sheet) การบินไทย ให้กลับมาอยู่ในสภาวะพร้อมเปิดดำเนินการ

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันที คือ 1.ลดหนี้สิน และ 2.เพิ่มทุน โดยควรให้กลับมามีหนี้สินต่อทุนราว 2 ต่อ 1 ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้สินประมาณ 3 แสนล้านบาท หมายความว่า รัฐบาลต้องลดหนี้สินให้เหลือ 2 แสนล้านบาท แล้วกันไว้เป็นทุน 1 แสนล้านบาท”

“บรรยง” แนะนำว่า ในการเจรจากับเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนต้องทำให้เจ้าหนี้เห็นว่า การทำให้การบินไทยกลับมาดำเนินการได้ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการเอาทรัพย์สินไปขาย จากนั้นรัฐบาลค่อยใส่เงินสดเข้าไป

“ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะใช้อำนาจต่อรองในฐานะคนที่ใส่เงินใหม่เข้าไป ไปต่อรองกับเจ้าหนี้ว่า เขาจะต้องลดหนี้ลงบ้าง ต้องยอมเปลี่ยนหนี้เป็นทุนบ้าง เพื่อหวังว่าเมื่อการบินไทยกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ ก็จะมีมูลค่าขึ้นมา”

กรณี “เจแปนแอร์ไลน์” การฟื้นฟูประสบความสำเร็จมาก ลดหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันลงไปถึง 85% เหลือเพียง 15%

ส่วนเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องบิน ข้อดีในภาวะนี้ คือ เขาไม่อยากได้เครื่องบินเท่าไหร่ เพราะในยามนี้เครื่องบินทั่วโลก 16,000 ลำ ถูกใช้งานเพียง 10% เพราะฉะนั้น ต้องเจรจาให้เขายืดหนี้ ลดหนี้ ลดดอกเบี้ย และเปลี่ยนหนี้เป็นทุน

เติม 1 แสนล้าน ต่อลมหายใจ 1 ปี

“บรรยง” ประเมินว่า รัฐบาลจะต้องใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท เพื่อให้การบินไทยกลับมาเปิดดำเนินการได้ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากใส่เงินเข้าไปเฉย ๆ อาจเกิด “ภาวะทึ้งแล้ววิ่ง” คือ เจ้าหนี้ที่ถึงกำหนดรับเงิน ได้เงินแล้วก็รีบวิ่งหนีไป ไม่กลับมาให้กู้อีก ดังนั้น การใส่เงินเข้าไปครั้งนี้จึงต้องใส่หลังจากที่ตกลงกับเจ้าหนี้ได้แล้ว

“สายการบินอื่น ๆ เช่น ลุฟท์ฮันซ่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ใช้วิธีการใส่เงินเข้าไปเหมือนกัน เป็นการใส่เงินเพื่อให้กลับมากำไรตามปกติ ขณะที่การบินไทยต้องพิสูจน์ว่าจะไม่กลับไปขาดทุน หลังจากขาดทุนมา 10 ปีต่อเนื่อง ต้องสามารถพลิกขึ้นมาให้ได้”

วางกลยุทธ์ใหม่-โละคนลดต้นทุน

อดีตกรรมการ บมจ.การบินไทยชี้ว่า สิ่งที่การบินไทยต้องทำ คือ การวางกลยุทธ์ใหม่ วางตำแหน่งทางการตลาดใหม่ ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน ที่สำคัญ คือ การลดต้นทุน ทั้งต้นทุนการขายตั๋วโดยสาร ซึ่งเคยขายผ่านเอเย่นต์มากเกินไป รวมถึงต้นทุนการซื้อ ตั้งแต่เครื่องบิน เก้าอี้ กะปิ น้ำปลา มะนาว ฯลฯ

ตลอดจนการลด “คน” ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า การบินไทยมีคน “มากเกินไป” เทียบกับภารกิจที่ทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย ลูกเรือ ฝ่ายช่าง และคนใน ฝ่ายสนับสนุนต่าง ๆ

“บรรยง” กล่าวว่า การบินไทยมีพนักงานรวมเอาต์ซอร์ซ ประมาณ 28,000 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรมีพนักงาน 16,000-17,000 คน น่าจะเพียงพอ ดังนั้น การวางแผนหลังจากนี้จะต้องกระทบพนักงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“บรรยง” เผยด้วยว่า คนที่อยู่ในระดับบริหาร ระดับตัดสินใจในการบินไทย ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดมาก แต่เนื่องจากการบินไทยมีพนักงานเยอะ จึงมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าที่ควร แต่รายหัวไม่สูง หลายจุดต่ำกว่าตลาดมาก แน่นอนว่าพอต่ำกว่าตลาดก็ยากที่จะจัดจ้างคนเก่งมาทำงานได้

สุดท้ายเมื่อผ่านการพลิกฟื้นกระบวนการใหญ่ “บรรยง” มั่นใจว่า

การบินไทยจะมีศักยภาพแข่งขันในธุรกิจการบิน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับธุรกิจการบิน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นประเทศที่มีคนเดินทางเข้า-ออก

จำนวนมาก โดยมีนักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน ที่สำคัญ ประเทศไทยยังมีค่าครองชีพไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เป็นสายการบินพรีเมี่ยม

ชนวนสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

เมื่อถามถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอื่น “บรรยง” ฉายภาพว่า รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชนด้วยระบบและกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น “ไม่เวิร์ก”

“โลกพิสูจน์แล้วว่าการบริหารแบบรัฐในกิจการที่ต้องแข่งขัน ต้องมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพ ไม่ให้มีการรั่วไหล รัฐทำได้ไม่ดี ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นทุกแห่งในโลก จึงเกิดกระบวนการที่เรียกว่า ลดรัฐ (privatization) ขึ้น”

แต่การจะไปยุบหรือขายทิ้งรัฐวิสาหกิจที่ประเทศไทยมีอยู่ 56 แห่ง สินทรัพย์รวมกว่า 1.6 แสนล้านบาทนั้น “เป็นไปไม่ได้”

ต้องใช้วิธีเปลี่ยนระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ลดการรั่วไหล เน้นผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ ซึ่งมีหลายโมเดลที่ต่างประเทศใช้กัน

ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เช่น การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “เทมาเส็ก” ซึ่งเริ่มต้นมีเงินทุน 12 ล้านเหรียญปัจจุบันมีทรัพย์สิน 5 แสนล้านเหรียญ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใส่เงินลงไป แถมเทมาเส็กยังส่งเงินให้รัฐบาลจำนวนมาก และรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทมาเส็ก เช่น สิงคโปร์เทเลคอม สิงคโปร์แอร์ไลน์ส ดีบีเอสแบงก์ ฯลฯ ยังกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ไม่ใช่เฉพาะในสิงคโปร์

ใคร ๆ ก็ไม่ปลื้มปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

แต่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งองคาพยพไม่ถูกใจสิ่งนี้

“บรรยง” กล่าวว่า นักการเมืองไม่ชอบการปฏิรูป เพราะอำนาจที่เคยมีจะหมดไป ข้าราชการประจำก็ไม่ชอบ เพราะอำนาจของหน่วยงานที่ตัวเองดูแลอยู่ก็จะไม่มี และข้าราชการก็ไม่จำเป็นต้องนั่งเก้าอี้กรรมการอีกต่อไป ขณะที่ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเองก็ไม่ชอบ เพราะหมายถึงการถูกบีบให้กระโดดเข้าสู่สนามแข่งขัน พนักงานก็ไม่ชอบเพราะต้องทำงานมากขึ้น จะเช้าชามเย็นชามเหมือนเดิมไม่ได้ สุดท้าย คือ คู่ค้าของรัฐวิสาหกิจ ที่เคยทำการค้าแล้วได้ผลกำไรดีก็จะเกิดการต่อต้าน

นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคมที่มักจะยกเรื่องความรักชาติ สมบัติชาติ ขึ้นมาโจมตี หลายคนบอกว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะทำให้เกิดการกินรวบ แต่ “บรรยง” ตั้งคำถามให้คิดว่า ระหว่าง “กินแบ่ง” กับ “กินรวบ” อะไรจะกินน้อยกว่ากัน

ประธานธนาคารเกียรตินาคินกล่าวด้วยว่า ข้อดีของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คือ ความโปร่งใส ทุกอย่างต้องเปิดเผย มีกระบวนการ และเปิดให้เกิดการตรวจสอบเต็มที่

“สุดท้ายผมเชื่อในประชาชน ตราบใดที่ประชาชนเข้าใจและเห็นประโยชน์ มันจะเกิด ตอนนี้อยู่ที่ประชาชนว่าจะสนับสนุนแค่ไหน ถ้ารัฐบาลนี้ยังไม่เห็นควร มีพรรคการเมืองไหนเห็นว่าดีจะเอาไปเป็นนโยบายก็เชิญตามสะดวก ผมมั่นใจว่ามันดีกว่าสถานะปัจจุบันแน่นอน” บรรยงกล่าวและว่า

เวลามีการตั้งรัฐบาล คนจะแย่งกระทรวงที่มีงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดอยู่ 2-3 แห่ง หากเราจัดการรัฐวิสาหกิจได้ดี กระทรวงซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเกรดเอบวกจะกลายเป็นเกรดซีในมุมของนักการเมืองทันที คราวนี้ก็ช่วยท่านนายกฯไม่ให้ปวดหัว จะได้ไม่ต้องมาแย่งทึ้งกระทรวงนี้กัน

 

ขุดรากเหง้าปัญหาประเทศ

“บรรยง” ฉายภาพปัญหาประเทศในภาพใหญ่ระบุว่า เกิดจากเศรษฐกิจไม่โตและไม่กระจาย ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ

“การลดความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด คือ ทำให้ข้างล่างโตมากกว่าข้างบน แต่ของเราข้างล่างโตน้อย แถมข้างบนเอาไปหมด เลยยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ๆ”

สาเหตุของโครงสร้างนี้มาจาก “รัฐมีขนาดใหญ่เกินไป” และ “ขยายตัวไม่หยุดยั้ง” นำไปสู่การคอร์รัปชั่นใหญ่