รัฐกู้เพิ่ม2แสนล้านโปะใช้จ่าย โควิดทุบคลังเงินหมดเก๊ะ-ภาษีวืดเป้า

กราฟิก รัฐกู้เพิ่ม2แสนล้านโปะใช้จ่าย โควิดทุบคลังเงินหมดเก๊ะ-ภาษีวืดเป้า

“โควิด-19” ทุบเงินเกลี้ยงคลัง ! เล็งขยับกรอบขาดดุลกู้เพิ่ม 1-2 แสนล้าน หลัง 3 กรมภาษีเก็บรายได้วืดเป้าหนัก เม.ย.เดือนเดียวกู้ชดเชยขาดดุล 1.65 แสนล้าน เผย 7 เดือนแรกเก็บรายได้ต่ำเป้า 8.5 หมื่นล้าน ภาษี VAT วูบกว่า 4 หมื่นล้าน อดีตขุนคลัง “สมหมาย ภาษี” ชี้การคลังประเทศน่าห่วง ฟันธง 3 ปีข้างหน้า รัฐต้องกู้ชดเชยขาดดุลพุ่ง 2 ล้านล้านบาท ดันหนี้สาธารณะทะลุกรอบ 60% ของจีดีพี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ทางด้านการคลังขณะนี้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 1-2 แสนล้านบาท จากกรอบเดิมที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2563 ที่ 4.6 แสนล้านบาท เนื่องจากช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ กรอบเดิมที่ตั้งไว้อาจไม่เพียงพอ สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมากในปีนี้ เพราะมีการเลื่อนเวลาชำระภาษีสำคัญ ๆ ที่เป็นรายได้หลักหลายรายการออกไป นอกจากนี้ ยังมีการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งของประชาชน ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ จนทำให้เงินคงคลังลดลงไปมาก บางวันยอดเงินคงคลังเกือบเป็นศูนย์

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถกู้ชดเชยการขาดดุลได้ในกรอบที่ตั้งไว้ แต่พบว่าในเดือน เม.ย. กู้ชดเชยขาดดุลสูงถึง 1.65 แสนล้านบาท จากปกติที่จะกู้อยู่แค่ระดับหมื่นล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น

“ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 มีรายได้นำส่งคลังกว่า 1.33 ล้านล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายกว่า 2.02 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล ทำให้ดุลเงินสดขาดดุลทั้งสิ้นกว่า 6.28 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้ชดเชยการขาดดุลไปกว่า 2.68 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 1.52 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปี 2562 ที่เงินคงคลังอยู่ที่ 2.63 แสนล้านบาท และเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 เงินคงคลังอยู่ที่ 2.45 แสนล้านบาท”

3 กรมเก็บรายได้ต่ำเป้า

แหล่งข่าวกล่าวว่า เฉพาะในเดือน เม.ย. 2563 เดือนเดียว รัฐบาลจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกรมสรรพากรที่เก็บภาษีได้ต่ำเป้าไป 5.5 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตเก็บภาษีต่ำเป้ากว่า 2.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษี เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีน้ำมัน เป็นต้น ทำให้ภาพรวม 7 เดือน โดยเฉพาะภาษีเงินได้ ภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน ต่ำกว่าเป้ารายการละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้ารวม 8.5 หมื่นล้านบาทและเมื่อพิจารณายอดจัดเก็บรายได้รวมในช่วง 7 เดือน (ต.ค. 2562-เม.ย. 2563) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวมได้ทั้งหมด 8.97 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 7.24 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตเก็บรายได้รวม 3.35 แสนล้านบาท

ต่ำกว่าเป้า 4.29 หมื่นล้านบาท ส่วนกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 5.8 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 5,480 ล้านบาท ซึ่งรวมกัน 3 กรม การจัดเก็บรายได้ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ต่ำกว่าเป้าไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้รวม 1.44 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้า 1.98 หมื่นล้านบาท และหน่วยงานอื่นเก็บรายได้รวม 1.18 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้า 6,384 ล้านบาท ทำให้ภาพรวมรายได้รัฐต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 8.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนการเบิกจ่ายในช่วง 7 เดือน จนถึงเดือน เม.ย. 2563 รัฐบาลเบิกจ่ายแล้วรวม 1.86 ล้านล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีแล้ว ทำให้ช่วง 7 เดือนแรก มีการเบิกจ่ายเงินเข้าระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้นกว่า 2.02 ล้านล้านบาท

ลุ้นขยับวงเงินขาดดุลสิ้น ส.ค.

“รัฐบาลคงต้องพิจารณาลดเป้าหมายจัดเก็บรายได้ลง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินรายได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ โดยเฉพาะหลังจากหมดอายุมาตรการเลื่อนชำระภาษีหลายประเภทสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งหากรายได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก ก็ต้องขยับวงเงินขาดดุลงบประมาณขึ้น เพื่อให้สามารถกู้ชดเชยขาดดุลได้เพิ่ม หรืออาจต้องพิจารณาตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนออก แต่น่าจะตัดลดงบฯลำบากแล้ว เพราะงบฯที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนส่วนหนึ่งถูกโอนไปเป็นงบฯกลาง เพื่อใช้รับมือผลกระทบโควิดแล้ว”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามแนวทางปฏิบัติกระทรวงการคลังจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ (ก.ย.) เพื่อให้มีเงินคงคลังปลายงวดในระดับที่เหมาะสมไว้รองรับการเบิกจ่ายในช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่รายได้จะเข้ามาไม่มาก

“เงินคงคลังปลายงวดที่ผ่านมาสูงถึง 5-6 แสนล้านบาท แต่ระดับที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อเอาไว้บริหารแคชโฟลว์ เพราะถ้ามีมากเกินไปก็เป็นต้นทุน”

รัฐจ่อกู้โปะขาดดุล 2 ล้านล้าน

เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง มองว่า แนวโน้มฐานะการคลังของประเทศถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก และจะลากยาวไปอีกหลายปี เนื่องจากภาวะทางการคลังที่กระเบียดกระเสียรมานับ 10 ปีแล้ว จากการที่เก็บรายได้ได้ต่ำ และขณะนี้ยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นมาก เพื่อดูแลผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

โดยในระยะ 3 ปีข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจนเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไว้ว่าต้องไม่เกิน 60% เนื่องจากรัฐบาลต้องกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการกู้เงินตามกฎหมายพิเศษ 1 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือโควิด นอกจากนี้ ยังมีหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระค้ำประกันเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 นี้ คาดว่ารัฐบาลคงต้องกู้ชดเชยขาดดุลเต็มวงเงินที่ตั้งไว้ที่ 4.69 แสนล้านบาท เนื่องจากการเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ระดับ 1-2 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้มอีก 3 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2564-2566) คาดว่ารัฐบาลจะต้องกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกรวมแล้ว 2 ล้านล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2564 จะขาดดุลไม่น้อยกว่า 6.23 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 ขาดดุลเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 จะขาดดุลเพิ่มเป็น 7.2 แสนล้านบาท

“แคชโฟลว์ของรัฐบาลจะลดลงไปเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ตราบใดที่กรอบกู้ชดเชยขาดดุลยังมีอยู่ ก็กู้มาใส่ได้ เพียงแต่กู้มามาก ๆ ก็จะเสียดอกเบี้ยมาก ปีนี้ผมมองว่าต้องกู้เต็มเพดานที่กฎหมายอนุมัติไว้แน่นอน ส่วนปีงบประมาณ 2564 ที่ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้เดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2.77 ล้านล้านบาท แต่จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการลดเป้าลงไปแล้ว 1 แสนล้านบาท ไปกู้ชดเชยขาดดุลเป็น 6.23 แสนล้านบาท แต่น่าจะเป็นการไปตายเอาดาบหน้า เพราะผมคิดว่ารายได้จะหายไปอย่างน้อย 3 แสนล้านบาท”

นายสมหมายกล่าวอีกว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ต้องบอกประชาชนให้รู้จัก อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า ต้องลำบาก ต้องอดทน และต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ใช้แต่นโยบายลดแลกแจกแถม ทำให้ประชาชนรู้สึกจะรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว

อัดรัฐบาล “ไม่สนใจการคลัง”

นายสมหมายกล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งน่ากังวลมากขึ้นจะลามไปสู่เรื่องอื่น ๆ เพราะเมื่อรัฐกู้เงินมาจำนวนมาก ก็ต้องตั้งงบฯใช้หนี้ ทำให้ไปเบียดเบียนงบประมาณด้านอื่น อย่างเช่น งบประมาณดูแลสุขภาพประชาชน เงินดูแลสวัสดิการช่วยเหลือคนยากจน เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มการคลังที่ไม่ยั่งยืนมากขึ้นนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลไม่รู้เรื่อง และไม่สนใจเรื่องการคลัง

ขณะที่การแก้ปัญหาฐานะการคลังคงไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะการจะปรับขึ้นภาษีทำไม่ได้มาก หากจะขึ้นภาษีที่ทำให้รัฐมีรายได้เข้ามามากที่สุด ก็ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยทยอยปรับขึ้นจาก 7% เป็น 8%เป็น 9% ซึ่งหากจะทำก็สามารถทำได้ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่นที่ปรับขึ้นทีเดียว 3% เมื่อ 6 เดือนก่อน กรณีนี้หากปรับอย่างมีความเข้าใจก็ทำได้ ไม่ใช่มัวกังวลแต่เรื่องคะแนนเสียงเหมือนกับรัฐบาลไทย

“ถ้าไม่ขึ้น VAT ก็ทำอะไรไม่ได้ จะขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งตอนร่างดีมาก แต่พอจะจัดเก็บเริ่ม ส.ค.นี้ เดิมคิดว่าจะได้สัก 4 หมื่นล้านบาทก็ไปลด 90% เหลือเก็บได้ 4,000 ล้านบาท เหมือนกับแทบจะเก็บไม่ได้เลย”

สศค.ยันบริหารจัดการได้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การที่จะปรับกรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลปีงบประมาณ 2563 เพิ่ม จะต้องไปดูเงินคงคลังก่อน หากยังมีอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องขยายกรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุล พิจารณาเบื้องต้นขณะนี้ก็ยังมีอยู่พอสมควร ขณะที่การบริหารจัดการไม่ต้องเป็นห่วง ซึ่งทาง สศค. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีการบริหารสภาพคล่อง และกระแสเงินสดเป็นปกติอยู่แล้ว

“การบริหารกระแสเงินสดของภาครัฐยังไม่มีอะไรต้องห่วง เราสามารถบริหารจัดการได้ ยังมีเงินคงคลังพอสมควร ถ้าหากเงินคงคลังไม่พอ จึงจะต้องไปพิจารณาใช้เครื่องมือการกู้เงิน ซึ่งจังหวะการใช้เงินมีการบริหารจัดการกันทุกวัน”

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้คงคำนึงถึงแต่การเก็บรายได้ไม่ได้ เพราะต้องช่วยเหลือผู้เสียภาษีที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดก่อน

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2563 นี้ สบน.มีกรอบการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลอยู่ที่ 4.69 แสนล้านบาท โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ได้มีการเปิดประมูลการจำหน่ายตั๋วเงินคงคลัง จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม