กรุงไทยหวั่นโควิดป่วน “ระยอง” ฉุดจีดีพีทรุดหนัก -12%

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว -8.8% กรอบ -8.8-12% ชี้ไตรมาสที่ 2 ถึงจุดต่ำสุดหลังคลายล็อกดาวน์ ส่วนปี 64 ขยายตัวได้ 6.1% หวังนักท่องเที่ยวกลับมาได้ 16 ล้านคน เผยมีโอกาสปรับจีดีพีใหม่หากกรณีระยองระบาดรอบ 2

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 ประเมินว่าจะหดตัวรุนแรงอยู่ที่ -8.8% จากกรอบประมาณการ -8.8-12% และมองว่าเศรษฐกิจลงลึกที่สุดในไตรมาสที่ 2 ภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 6.1%

ทั้งนี้ กรอบประมาณการเติบโตเศรษฐกิจดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 ล้านคน และในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคน ซึ่งภายใต้สถานการณ์ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ขณะที่ภาคการส่งออกจะเห็นว่าการส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่คาดว่าการส่งออกในปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โอกาสที่สูนย์วิจัยฯ จะมีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากภายใต้สมุตติฐานยังไม่ได้รวมเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจากในระยอง ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวกว่าประมาณการเดิมที่มองไว้ แต่เชื่อว่ายังอยู่ในกรอบ -8.8-12%

“เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 63-64 ถือว่าเจอศึกหนัก เพราะทุกคนไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน และสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เพราะเมื่อเดือนที่แล้วสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากการคลายล็อก แต่มาวันนี้มีข่าวระบาดเพิ่มขึ้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก และผู้ประกอบการเองจะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องให้ดี”