“ชาติศิริ” รับมือโควิด สั่ง ธ.กรุงเทพ ดูแลลูกค้า-อุ้มผู้ถือหุ้น

ชาติศิริ โสภณพนิช

ธนาคารพาณิชย์ถูกคาดหวังเป็น “กันชน” รองรับวิกฤต “โควิด-19” ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ จึงมีโจทย์ที่ท้าทายผู้บริหารแบงก์ที่ต้องดูแลทั้งผลประกอบการ และต้องช่วยเหลือลูกค้าควบคู่กันไป โดยในส่วนของธนาคารกรุงเทพที่เป็นแบงก์ใหญ่อันดับหนึ่งของเมืองไทย “ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ฉายภาพการบริหารงานท่ามกลางวิกฤต ตลอดจนตอบคำถามถึงแนวโน้มการทำธุรกิจระยะข้างหน้า ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

รอบนี้หนักกว่า “ต้มยำกุ้ง”

“ชาติศิริ” กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -8.1% มากกว่าเดิมที่คาดจะหดตัว -5.3% ถือว่าสอดคล้องกับธนาคารกรุงเทพที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว -10% ดังนั้น ภาพรวมผลประกอบการของธนาคารปีนี้คงได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจ

“วิกฤตครั้งนี้เมื่อเทียบกับปี 2540 ถือว่าค่อนข้างยากและหนักพอสมควร เนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นทั้งโลกและกระทบทุกเซ็กเตอร์ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือว่าแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันดีกว่าในอดีต แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวเนื่องจากเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับภูมิภาคและขึ้นกับการท่องเที่ยวสูง แม้ว่าเราจะคอนโทรลเชื้อโรคได้ แต่การทำให้ธุรกิจ reopening (กลับมาเปิด) ได้โดยปลอดเชื้อต้องมีความระมัดระวังและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก”

หวั่นหนี้เสียทะลักเร่งตั้งสำรอง

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเอ็นพีแอลไตรมาสแรกอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3.48-3.5% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4% ซึ่งระยะข้างหน้าก็คาดว่าเอ็นพีแอลยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในปีนี้ไปถึงปีหน้า ดังนั้น ธนาคารจึงได้เร่งตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นตามลำดับในไตรมาสถัด ๆ ไป เพื่อรองรับผลกระทบซึ่งได้ทำล่วงหน้าไว้แล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์นี้ค่อนข้างยากกว่าในภาวะปกติ

“ธนาคารเร่งตั้งสำรองในไตรมาส 3 และระยะถัด ๆ ไปจนถึงปี 2564 เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ตั้งสำรองในส่วนของสินเชื่อที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล หรือ stage 2 ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ไว้แล้วระดับหนึ่ง”

สั่งสาขา-พนักงานเกาะติดลูกค้า

การดูแลลูกค้านั้น “ชาติศิริ” กล่าวว่า ธนาคารได้ให้ฝ่ายจัดการธนาคารสาขาทุกพื้นที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในด้านสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้ลูกค้าสามารถรีสตาร์ตธุรกิจกลับมาได้ โดยธนาคารจะติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2564

“ธนาคารพยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ของทางการ เช่น ซอฟต์โลน พักชำระหนี้ 3-6 เดือน ทั้งลูกค้าเอสเอ็มอี รายย่อยและรายใหญ่ การปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และบางครั้งก็ลดเงินต้นให้ลูกค้า หรือตีโอนทรัพย์ชำระหนี้”

ทำความเข้าใจงดจ่ายปันผล

สำหรับการงดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลนั้น “ชาติศิริ” ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางของ ธปท. ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สุขุมและรอบคอบ เพื่อให้ธนาคารมีเงินกองทุนที่เพียงพอ ในขณะที่ธนาคารเองก็พยายามควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงการพิจารณาผลตอบแทนผู้บริหารให้สอดคล้องกัน เพื่อให้แบงก์และลูกค้าสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

“ถ้าดูธนาคารกลางในหลาย ๆ ประเทศก็งดจ่ายปันผลเช่นกัน ส่วนจะกลับมาจ่ายเงินปันผลทั้งปีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเร็วเกินไปจะตอบได้ รวมถึงต้องรอผลประกอบการของธนาคารที่จะออกมาด้วย หากธนาคารมีกำไรจ่ายได้ แต่ถ้าไม่มีก็คงไม่มีเงินปันผล”

“เพอร์มาตา” เจอหางเลขโควิด

“ชาติศิริ” ยังตอบผู้ถือหุ้นถึงผลกระทบโควิด-19 ต่อธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียที่อยู่ระหว่างขยายกิจการด้วยว่า ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างทำคำเสนอซื้อหุ้นสัดส่วนหุ้นธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata Tbk) ส่วนที่เหลือหลังชำระค่าหุ้นแล้วสัดส่วนกว่า 89% โดยยอมรับว่าเพอร์มาตาก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระดับหนึ่งจากมาตรการควบคุมการติดเชื้อของทางการอินโดฯ และคาดว่าเศรษฐกิจอินโดฯปีนี้จะขยายตัวแค่ 0-1%

“เราติดตามอย่างใกล้ชิด โดยผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของเพอร์มาตายังคงสามารถเติบโตได้ ส่วนผลงานในระยะถัดจากนี้ไปก็คงต้องติดตาม ซึ่งทางเพอร์มาตาได้มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้”

ควัก 6 พันล้านอัพระบบไอที

นอกจากนี้ “ชาติศิริ” บอกว่าในปีนี้ธนาคารได้ตั้งงบฯพัฒนาระบบไอที 4,000-6,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับโมบายแบงกิ้งของธนาคาร และอื่น ๆ ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 เป็นแรงผลักดันให้คนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ธนาคารจึงต้องเร่งปรับตัว

“เราจะต้องพาลูกค้าให้ผ่านสถานการณ์ความยากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยแบงก์เองต้องปรับตัว ทั้งในด้านเทคโนโลยี โดยเพิ่มการเชื่อมต่อกับลูกค้าให้ธนาคารเข้าไปอยู่กับลูกค้าในทุกวันและทุกช่วงชีวิตให้ได้ ขณะเดียวกัน พนักงานก็จะต้องปรับตัวรับทุกการเปลี่ยนแปลง สาขาที่เป็น physi-cal จะเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น”

วิกฤตรอบนี้เป็นโจทย์ใหม่ที่ไม่มีใครเคยเจอ แบงก์จะเป็น “กันชน” ได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ “โควิด-19” จะจบได้เมื่อไหร่ ระหว่างนี้ก็คงต้องประคับประคองกันไป