หุ้นสายการบินไร้อนาคต โบรกฯ เตือนขายทิ้ง-ย้ายกลุ่มลงทุน

เดินทางในประเทศ
Photo by Lillian SUWANRUMPHA/AFP

2 โบรกฯ แนะทิ้งหุ้นสายการบินย้ายลงทุนกลุ่มอื่น ชี้ความเสี่ยงการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูง-ผลประกอบการแผ่วต่อเนื่อง-ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดช้า ‘บล.เมย์แบงก์ฯ’ เตือนนักลงทุนเลี่ยงลงทุนหุ้นสายการบิน แต่ฝั่งหุ้นสนามบิน ‘AOT’ หากราคาหลุด 50.00 บาท น่าซื้อลงทุนระยะกลาง ‘บล.เอเซีย พลัส’ ชี้ช่องเก็งกำไร AAV จากข่าวนกแอร์ยื่นล้มละลาย แต่ระยะยาวเตือนเลี่ยงลงทุนเช่นกัน

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มสายการบินเช่นเดิม เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มแผ่วลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมภาวะการแข่งขันที่สูง ดังนั้น จึงแนะนำ “หลีกเลี่ยงลงทุน” จากภาพรวมธุรกิจที่ค่อนข้างแย่

ในส่วนของหุ้นสนามบิน หรือ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในระยะสั้นยังถูกกดดันจากข่าวเชิงลบ ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 2 และ 3 ที่คาดว่าจะออกมาขาดทุน จากผลกระทบนักท่องเที่ยวที่หายไป รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในจุดต่างๆ อาทิ การขยายเวลาสัมปทานบริษัทคิงเพาเวอร์ และการผ่อนผันค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการในสนามบิน ส่งผลให้ภาระต้นทุนของ AOT ปรับเพิ่มขึ้น

“ภาพรวมธุรกิจของ AOT ยังถือว่าดีกว่ากลุ่มสายการบิน แต่จากราคาหุ้นที่ปรับลงจากระดับ 80-90 บาท มาอยู่ที่ระดับ 50 นั้น เราแนะนำว่าถ้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้นอาจไม่เหมาะ แต่หากลงทุนระยะกลางที่ระดับ 50.00 บาทลงมา หรือเห็นระดับ 40 บาทกว่าๆ เริ่มน่าสนใจ แต่ลงทุนระยะกลางในที่นี่คือถือยาวไปจนถึงปีหน้า” นายวิจิตร กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงการขาดทุนในอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าไม่ได้ แนะนำ “สับเปลี่ยน” (Switch) การลงทุนไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงผู้ที่มีหุ้นอยู่แนะนำขายตัดขาดทุน (Cut Loss) ไปยังกลุ่มอื่นเช่นกัน เนื่องจากการฟื้นตัวของกลุ่มการบินยังลำบาก จากที่คาดว่าวิกฤตโควิด-19 จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนานจึงจะคลี่คลาย หรือต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสออกมา โดยปัจจุบันธุรกิจการบินของไทยพึ่งพิงเที่ยวบินต่างประเทศสูงถึง 70%

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า วานนี้ (30 ก.ค.63) บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ได้ยื่นคำร้องและการเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย โดยเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นจากปัญหาสภาพคล่องที่หมดไป จากปริมาณธุรกิจที่ลดลงตามผลกระทบโควิด-19 ต่อการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้กระบวนการดังกล่าว แม้ NOK ยังสามารถดำเนินกิจการได้อยู่ แต่ฝ่ายวิจัยประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ขนาดธุรกิจของ NOK ในระยะถัดไปจะเล็กลงมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหากำลังให้บริการที่ล้นในอุตสาหกรรม และอาจส่งผลดีในแง่คู่แข่งลดลงต่อผู้ที่มีโอกาสอยู่รอดมากสุด คือ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ที่มีเงินสดในมือที่เหลือสูงถึง 4.85 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/63 เพียงพอรองรับรายจ่ายที่มีการควบคุมเข้มงวดตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ในไตรมาส 2/63

นอกจากนี้ การกลับมาเริ่มให้บริการราว 70% ของเที่ยวบินในประเทศ หรือ คิดเป็นราว 35%-40% ของกำลังให้บริการรวมในปัจจุบัน ยังเป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง แม้ไม่ครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด แต่จากการตรวจสอบกับ AAV ล่าสุด สภาพคล่องที่เหลืออยู่ยังคาดช่วยประคองถึงสิ้นปี และหากปริมาณธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว AAV ยังสามารถงัดมาตรการเข้มงวดรายจ่ายเพิ่มเติมที่ยังไม่ใช้ได้อีก เช่น การปลดระวางฝูงบิน รวมถึงการลดจำนวนพนักงาน ให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับปริมาณธุรกิจที่มีระยะสั้น

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เชื่อว่าสามารถเก็งกำไร AAV สั้นๆจากกระแสข่าวดังกล่าวได้ ทั้งนี้ คำแนะนำทางพื้นฐาน ยังคงให้ Switch จากความเสี่ยงการฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ