กสิกรไทย ชี้แจงการขายหุ้นที่ซื้อคืน คำนึงผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

ธนาคารกสิกรไทย ชี้แจงข่าวที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงการกำหนดระยะเวลาขายหุ้นที่ซื้อคืนระหว่าง 31 ส.ค. – 16 ก.ย.63 ยืนยันจะพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ‘ภาวะตลาด-ราคา/ปริมาณที่เหมาะสม-ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น’ โชว์ระดับเงินกองทุน ณ สิ้น มิ.ย.ที่ 18.09% แข็งแกร่งพอดำเนินธุรกิจ

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้แจ้งข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ภายใต้โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินของธนาคาร จำนวน 23,932,600 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 1 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของธนาคาร โดยจะเสนอขายหุ้นที่ซื้อคืนในระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 16 กันยายน 2563 นั้น

ธนาคารขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนดังกล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำนึงถึงการสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายความรวมถึงภาวะตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ราคา และปริมาณการซื้อขายที่เหมาะสม โดยหากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ธนาคารไม่สามารถจำหน่ายได้ ระดับเงินกองทุนของธนาคารก็ยังคงมีความแข็งแกร่งและเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันธนาคารมีระดับเงินกองทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 18.09% เป็นเงินกองทุนชั้นที่หนึ่งที่ 15.38% และมีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (LDR) อยู่ที่ 92.15% ทั้งนี้ การดำเนินการของธนาคารจะเป็นไปตามกรอบของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วานนี้ (30 ก.ค.63) ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้นทุนซื้อคืน หลังพ้นกำหนด 6 เดือน นับตั้งแต่สิ้นสุดโครงการซื้อคืน (27 ก.พ. 63) จำนวน 23,932,600 หุ้น (1% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว) โดยขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 16 ก.ย.63 ซึ่งราคาที่ขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 5 วันทำการ หัก 15% ของราคาปิดเฉลี่ย (ราคาขายคืน ≥ 85%)

โดยปกติการจำหน่ายหุ้นทุนซื้อคืน (Treasury Stock) จะทำได้หลังพ้นกำหนดสิ้นสุดการซื้อหุ้นคืน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งในทางบัญชีไม่ว่าจะเกิดเป็นกำไรหรือขาดทุน จะไม่มีการบันทึกผ่านงบกำไรขาดทุน แต่ส่งผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งในครั้งนี้ KBANK ประกาศจำหน่ายราคาหุ้นทุนซื้อคืน เมื่อเทียบกับราคาหุ้นปัจจุบันที่ 82.5 บาท ถือว่าต่ำกว่าราคาทุนเฉลี่ยราว 134 บาทต่อหุ้น (มูลค่าหุ้นซื้อคืนทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 3,208 ล้านบาท)

อย่างไรก็ดี มูลค่าการซื้อคืนที่คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.8% ของส่วนของผู้ถือหุ้น (โดยปกติส่วนที่ซื้อหุ้นคืน นับเป็นรายการหักจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ หรือ CET-1 อยู่แล้ว อีกทั้งการซื้อหุ้นคืนมีการจัดสรรกำไรสะสมในจำนวนเดียวกัน) ทำให้ผลต่อเงินกองทุนตามกฎหมายจำกัด โดย ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/63 ธนาคารฯ มีเงินกองทุนตามกฎหมาย (ตามงบการเงินรวม) จำนวน 3.83 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier – 1) ประมาณ 3.19 แสนล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) ที่ 2.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นเงินกองทุน (CAR) ที่ 18.1% (เกณฑ์ขั้นต่ำ ธปท. ที่ 12%) และ Tier – 1 ที่ 15.4% (ขั้นต่ำ 9.5% สำหรับ 5 ธนาคารใหญ่)

ทั้งนี้ การจำหน่ายหุ้นซื้อคืนในระยะเวลาที่รวดเร็ว มองว่า หลังสิ้นสุดโครงการฯ ช่วยทำให้ธนาคารเกิดความคล่องตัวในการบริหารโครงสร้างเงินกองทุนในอนาคต หากเกิดกรณีเลวร้าย ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่จีดีพีมีแนวโน้มหดตัวราว 8% – 10% จากปีก่อน มากกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องใช้เวลา สร้างแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งมองว่าทั้งกลุ่มฯ เผชิญกับความท้าทายไม่แตกต่างกันมาก โดยอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier -1 ) ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/63 พบว่าธนาคารทิสโก้ (TISCO) มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงสุดในกลุ่มฯ ที่ 17.6% (ขั้นต่ำ 8.5% สำหรับธนาคารขนาดกลางถึงเล็ก) รายละเอียดตามตาราง

อิงวิธีหามูลค่าเหมาะสม (GGM) (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE ระยะยาว 6%) ได้ราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) ที่ 0.53 เท่า ให้ราคาเหมาะสม (Fair Value) ปี 2563 อยู่ที่ 93 บาท แทบไม่เห็นปัจจัยบวกระยะสั้น แนะนำ “สับเปลี่ยน” (Switch) ย้ายไปพักในหุ้นปันผลกลุ่มอื่นแทน