ธปท. เคาะ 3 สูตร แก้หนี้ SME แบงก์ขานรับดีเดย์ 1 กันยายน

แบงก์ชาติ

ธปท. ผนึกสมาคมแบงก์-ส.อ.ท. เร่งสกัดปัญหา “หนี้เสีย” ผุดโครงการ DR BIZ” รวมหนี้เอสเอ็มอีวงเงิน 50-500 ล้านบาท สถานะปกติ หรือเอ็นพีแอลตั้งแต่ 1 ม.ค. 62 จัด 3 เมนูเซตพร้อมเสิร์ฟ ลดค่างวด-ปลอดหนี้-เติมสภาพคล่อง รับมือก่อนจบมาตรการพักหนี้ ต.ค. นี้ “ธนาคารพาณิชย์” ประสานเสียงเร่งแก้หนี้ ยันไม่ต้องเพิ่มพนักงานดูแล

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มองย้อนกลับไป 5-6 เดือนที่แล้วที่มีการระบาดของโควิด-19 แบ่งการแก้ปัญหา 2 ช่วงใหญ่ คือ เร่งดับไฟ เพราะเห็นความผันผวนตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก และอีกหลายมาตรการ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย มาตรการพักหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีวงเงิน 100 ล้านบาท ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน 6 เดือน ที่จะหมดมาตรการภายใน 22 ต.ค. 2563

ปัจจุบันไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ธปท.จึงเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก โดยเฉพาะหนี้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งแก้ปัญหาค่อนข้างยาก เพราะล้มเหลวในการประสานงาน (coordination failure) เนื่องจากวงเงิน หลักประกันแตกต่างกัน จึงออกโครงการ “DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” หรือ “ดีอาร์บิซ” เป็นมาตรการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับกระแสเงินสดลูกหนี้

โฟกัส SMEs ขนาด 50-500 ล้าน

เบื้องต้นจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีที่มีขนาด 50-500 ล้านบาท ซึ่งมีประมาณ 8,400 ราย มูลหนี้เกือบ 1.2
ล้านล้านบาท กระจายอยู่หลายอุตสาหกรรม ลูกค้าที่จะเข้าโครงการจะเป็นลูกค้าสถานะปกติ หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) กับธนาคารบางแห่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562 สามารถเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ย. 63 จะสิ้นสุดในปี 2564 แต่ขยายกรอบเวลาเพิ่มเติมได้

“เรามีบทเรียนในปี 2541 ที่มีคณะที่ปรึกษาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจรายใหญ่ (CRAC) แต่ครั้งนั้นเป็นหนี้เสียไปแล้ว ตามแก้ทีหลัง แต่วันนี้จะโฟกัสกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเจ้าหนี้หลายราย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น แบงก์สามารถใช้กับลูกหนี้รายเดียว หรือใช้กับวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาทได้ ธุรกิจภาคท่องเที่ยว โรงแรม จะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้มาก”

กระบวนการตัดสินใจการแก้หนี้จะเป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้หลายรายผ่านการโหวต โดยให้เจ้าหนี้รายใหญ่เป็นลีดดูแลและประสานงานกับแบงก์เจ้าหนี้รายอื่น ๆ หากไม่สามารถตกลงหรือเสียงโหวตใกล้เคียงกัน ธปท.จะมีคณะกรรมการเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย หรือดูแลแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้เดินต่อไปได้

จัด 3 เมนูเซตช่วยลูกหนี้ธุรกิจ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า โครงการ DR BIZ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายนั้น เบื้องต้นเน้นช่วยเหลือในกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท โดยจัด 3 เมนูเซตแก้ไขหนี้เดิมให้แก่ลูกหนี้ ได้แก่ 1.ลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ และ/หรือปรับเงื่อนไขให้เหมาะสมตามศักยภาพลูกหนี้ อาทิ ปรับวงเงินกู้ระยะสั้นให้เป็นเทอมโลน หรือปรับวงเงินให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืน ฯลฯ

2.ให้ระยะเวลาปลอดหนี้ และการผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสม 3.ทบทวนการให้ใช้วงเงินของลูกหนี้ที่เหลืออยู่ รวมถึงการให้วงเงินเพิ่มเติมเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (working capital) นอกจากนี้ ธนาคารเจ้าหนี้สามารถร่วมกันพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนอีกด้วย ระยะเวลาการพิจารณาช่วยเหลือจะอยู่ประมาณ 1 เดือน สามารถสมัครได้ที่ธนาคารที่สะดวกตั้งแต่ 1 ก.ย. 63 เป็นต้นไป

สมาคมแบงก์ยันแก้หนี้ภารกิจเร่งด่วน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนของสมาคมธนาคารไทยปีนี้จะช่วยเหลือลูกค้าและการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ซึ่งการเปิดตัวโครงการ DR BIZ จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจแบบเดียวกัน และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกหนี้ธุรกิจในแง่ที่สามารถเข้าไปติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้ กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดได้ทันที

มาตรการที่มีหลายแนวทางเช่นนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถแก้ปัญหาลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะรายได้ดี เช่น ชะลอการชำระหนี้ ปรับลดมูลหนี้ ขยายเวลาชำระหนี้ ร่วมทุน ไปจนถึงการให้สินเชื่อเพิ่มกรณีลูกหนี้ที่มีแผนธุรกิจชัดเจน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟู หลังไวรัสโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงตั้งแต่ 20-80% หลัง ธปท.ออกมาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจ 6 เดือน ถือเป็นการหยุดเลือดให้แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ภาคธุรกิจยังกังวลหลังหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ 22 ต.ค. ถือว่าโครงการ DR BIZ เข้ามาตอบโจทย์

“กสิกรไทย” จับตาคุณภาพหนี้

ขณะที่นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมาตรการพักชำระหนี้หมดลง ธนาคารจะต้องติดตามประเด็นคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด แม้ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์จะทยอยตั้งสำรองหนี้เพื่อรับมืออย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเปิดตัวโครงการ DR BIZ เมื่อ 21 ส.ค. 63 เพื่อรองรับลูกหนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือหลังจบมาตรการพักชำระหนี้นั้น ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือที่เข้ามาในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการช่วยเหลือที่เตรียมไว้สำหรับลูกหนี้กลุ่มอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย คาดว่า ธปท.จะทยอยประกาศออกมาในระยะถัดไป

“ตอนนี้ยากมากที่จะประเมินสถานการณ์ เพราะหนี้ NPL ยังอยู่ในมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งมาตรการพักชำระหนี้ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยจะครบกำหนดปลายเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ หรือช่วงไตรมาส 4 ดังนั้นต้องรอดูตัวเลข NPL ณ สิ้นปี’63 เลยว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ธนาคารมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ค่อนข้างสูง โดยมีเป้าหมายตั้งสำรองที่ 130-140%”

ด้านนายเดชพินันท์ สุทัศนทรวง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า เตรียมรองรับมาตรการดังกล่าวไว้แล้ว ตอนนี้ธนาคารยังไม่ต้องเพิ่มพนักงานในการดูแลลูกค้าที่จะเข้าโครงการ “DR BIZ” เนื่องจากลูกค้ากลุ่ม 50-500 ล้านบาท จะมีพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) เป็นคนดูแล โดยลูกค้าอาจเข้ามาติดต่อ หรือธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ติดต่อลูกค้า และส่งรายชื่อให้ ธปท. ซึ่ง ธปท.จะทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อเจ้าหนี้เพื่อเรียกประชุมหาข้อตกลงร่วมกัน