“ออมสิน” เปิดดีลซื้อ “อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง” ลุยธุรกิจรับจำนำทะเบียนรถ

ธนาคารออมสิน

“ออมสิน” ตั้ง “ทีเอ็มบี” ที่ปรึกษารุกธุรกิจจำนำทะเบียนรถ เปิดดีลซื้อ “อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง” บริษัทลูก “ไอแบงก์”ลุยธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ชี้เจรจาคู่ขนานหลังร่อนหนังสือเชิญ 25 บริษัทเช่าซื้อร่วมลงทุน ลั่นเคาะข้อสรุปภายใน ต.ค.นี้ ขณะที่ “MTC” เบอร์หนึ่งจำนำทะเบียนรถปัดร่วมทุนกับออมสิน ชี้เงื่อนไข “เงินทุนต้นทุนต่ำ-เซ็นสัญญา 3 ปี” ไม่จูงใจ ยันคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% อยู่แล้ว

แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ออมสินได้ตั้งธนาคารทหารไทย เป็นที่ปรึกษา (FA) พิจารณาแนวทางการทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (จำนำทะเบียนรถ) โดยล่าสุดได้ส่งหนังสือไปถึงผู้ประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถ จำนวน 25 ราย เพื่อเชิญชวนร่วมทำธุรกิจกับออมสิน ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเจรจากับ บมจ.อะมานะฮ์ลิสซิ่ง ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ การรุกเข้าไปธุรกิจจำนำทะเบียนรถของออมสินก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคในตลาด เนื่องจากปัจจุบันในตลาดมีการคิดอัตราดอกเบี้ยจากประชาชนแพง ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนทางการเงินต่ำมากแค่ราว 1% ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ร่วมกับออมสินก็ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ด้วย กล่าวคือธุรกิจมีกำไรอย่างเป็นธรรม

“เราอยากซื้ออะมานะฮ์ ลิสซิ่ง ของไอแบงก์ เพราะเป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอยู่ภายใต้กำกับของรัฐเหมือนกัน น่าจะคุยกันง่าย แต่ที่ผ่านมาทางไอแบงก์ยังไม่อยากขาย หรือหากจะขายก็จะขายแพง ดังนั้น ตอนนี้ก็ต้องเจรจาควบคู่ไปในระหว่างที่ทำหนังสือเชิญชวนอีก 25 รายไป ซึ่งก็ต้องรอดูข้อเสนอของ 25 รายที่เชิญชวนไปก่อนด้วย ภายในเดือน ต.ค.นี้ ก็คงมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น”

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า จะเสนอรายชื่อบริษัทที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการรับจำนำทะเบียนรถให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยจะเลือกผู้ร่วมทุนเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งในส่วน 25 บริษัทที่ส่งหนังสือไปนั้นพิจารณาจากคุณสมบัติ เช่น มีทุนจดทะเบียนเกิน 50 ล้านบาท ผลการดำเนินงานไม่ขาดทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ ออมสินจะเน้นจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถกระบะ และรถเก๋ง วงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 18% ต่อปี จากปัจจุบันดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ 24-28% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มธุรกิจนี้ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2564

“เราคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ต่ำกว่า 10-20% ของมูลค่าตลาดรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้” นายวิทัยกล่าว

MTC ปัดร่วมทุน

ทางด้านนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) กล่าวว่า บริษัทได้รับหนังสือเชิญชวนร่วมลงทุนจากออมสิน ซึ่งให้ตอบกลับภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยในหนังสือได้เสนอเงื่อนไขไว้ 2 ส่วน คือ 1.ออมสินถือหุ้น 49% และให้ MTC ถือหุ้น 51% และ 2.ขอซื้อหุ้นของบริษัท อย่างไรก็ดี คาดว่าทางออมสินน่าจะสนใจร่วมทุนกับบริษัทที่กำลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกลุ่มที่เพิ่งได้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องการแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ มากกว่ากลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่แล้ว

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

ทั้งนี้ มองว่าการที่ออมสินลงมาแข่งขันในตลาดนี้จะกระทบต่อธุรกิจรายย่อย เพราะได้เปรียบเรื่องต้นทุนต่าง ๆ เนื่องจากหัวใจของการแข่งขันอยู่ที่ 3 องค์ประกอบ คือ 1.ต้นทุนดอกเบี้ย ซึ่งรายย่อยต้องไปกู้เงินมาต้นทุนเฉลี่ย 7-8% ต่อปี แต่ออมสินจะอยู่ที่ 1% เท่านั้น 2.ต้นทุนการดำเนินงาน โดยรายย่อยอาจจะมีสาขามาก แต่สินเชื่อใหม่น้อย ก็สู้ไม่ได้ และ 3.หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หากมีมากกว่า 10% ก็ไปต่อไหว เพราะออมสินกลัวเรื่องหนี้เสีย จึงต้องการร่วมทุนกับคนที่มีประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ทั้งเทคโนโลยี การติดตามหนี้ และตั้งเงื่อนไขทำสัญญาความร่วมมือเพียง 3 ปี

“ข้อเสนอ คือ บริษัทจะได้รับแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ ภายใต้สัญญาความร่วมมือ 3 ปี ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันบริษัทก็มีแหล่งเงินทุนที่ต้นทุนค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว เป็นเงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 1% หรือจะออกหุ้นกู้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% ก็ได้ ซึ่งสภาพคล่องไม่ได้ขาดแคลนมากนัก

ขณะเดียวกัน MTC มีเครือข่ายสาขากว่า 5,000 แห่ง สินเชื่อก็ขยายตัวได้ดี มียอดคงค้างกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท กินส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อันดับ 1 จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบที่คาดว่ามีมากกว่า 2 แสนล้านบาท และปัจจุบันทางบริษัทคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 18% อยู่แล้ว ดังนั้น ดูเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินเสนอมาแล้ว ทางบริษัทจึงไม่สนใจเข้าไปร่วมลงทุน”

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า กรณีออมสินเตรียมเข้ามาทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน หรือต่อราคาหุ้นของกลุ่มเช่าซื้อเท่านั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัท โดยฝ่ายวิจัยมองว่าลูกค้าของออมสินจะเป็นคนละกลุ่มกับลูกค้าธุรกิจเช่าซื้อ

เนื่องจากดอกเบี้ยที่จะคิดค่อนข้างต่ำ เชื่อว่าธนาคารคงต้องมีกระบวนการคัดกรองลูกค้าที่เข้มงวดกว่า และลูกค้าต้องมีเครดิตดีกว่าลูกค้าของผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbank)

“จุดเด่นของน็อนแบงก์ทั้งเรื่องสาขาและบริการถือว่าดีกว่า และอนุมัติได้เร็วกว่าซึ่งออมสินคงเข้ามาแข่งขันลำบาก นอกจากนี้ เรามองว่าการที่ผู้ประกอบการเช่าซื้อในตลาดหุ้นจะเข้าไปร่วมทุนกับออมสิน น่าจะยังเป็นไปได้ยาก”