ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังทรัมป์สั่งระงับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

REUTERS/Jonathan Ernst TPX IMAGES OF THE DAY

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 31.18/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินหลักหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้สั่งระงับการเจรจาการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐไปจนถึงหลังวันเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะถูกจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน พร้อมกล่าวว่าเมื่อตนเองชนะการเลือกตั้ง ถึงจะผลักดันให้ผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ทำงานหนัก และภาคธุรกิจขนาดเล็ก

ซึ่งข่าวดังกล่าวถือเป็นทำลายมุมมองในแง่บวกของนักลงทุนที่ต่างเชื่อมั่นว่าทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตจะสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อออกมาตรการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

สำหรับอาการป่วยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แพทย์ประจำทำเนียบขาวได้แถลงว่า ทรัมป์มีสุขภาพดีขึ้นมาก ไม่มีอาการใด ๆ จากโรคโควิด-19 และทรัมป์ได้มีการทวีตข้อความว่า ตนเองรอคอยที่จะทำการดีเบตกับนายโจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตในสัปดาห์หน้าแล้ว

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐกระทรวงพาณิชยเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐ เดือน ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9% สู่ระดับ 6.71 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยมาจากตัวเลขการนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% สู่ระดับ 2.39 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.2% สู่ระดับ 1.719 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ตลาดยังจับตาการโต้วาทีของคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน และนางคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้า แต่ระหว่างวันปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 หรือ “ศบค.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (7 ต.ค.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงปลายปี 2563 เพิ่มเติมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยจะเป็นมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้เสียภาษีโดยมีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางและรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle income) ในการซื้อสินค้าและได้สิทธิลดหย่อนภาษี ภายใต้ชื่อโครงการ “ช้อปดีมีคืน” โดยลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อรายสำหรับในปีภาษีถัดไป โดยให้ซื้อสินค้าถึง 31 ธ.ค. 2563 ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 4 ล้านคน

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังขยายระยะเวลาเราเที่ยวด้วยกันไปจนถึงเดือน ม.ค. 2564 โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.22-31.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 3.24/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 1.1778/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 1.1780/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้ปัจจัยจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากทรัมป์สั่งระงับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจยูโรโซน ได้มีการเปิดเผยรายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมนีเดือนสิงหาคมปรับตัวลง 0.2% ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่บวก 1.5% และลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.4% ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1725-1.1808 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1757/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/10) ที่ระดับ 105.65/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 105.55/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจเดือน ส.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน หลังมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นใกล้จะหมดช่วงขาลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว และไม่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่านี้อีกแล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.47-106.05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.03/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 15-16 กันยายน ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (8/10), จำนวนผุ้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/10), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยเดือนกันยายน (8/10), ดัชนึภาคการบริการจีนเดือนกันยายนจากสถาบัน Caixin (8/10), รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหราชอาณาจักรเดือนสิงหาคม (9/10),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.15/+0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.20/+4.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ