บอร์ด PPP ไฟเขียว 2 โครงการร่วมลงทุน “รัฐ-เอกชน” วงเงิน 1.9 หมื่นล้าน

แฟ้มภาพประกอบข่าว

สคร. ชี้บอร์ด PPP ไฟเขียว 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 19,000 ล้านบาท หนุนเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ พร้อมเห็นชอบกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รองรับการดำเนินโครงการอย่างครบถ้วน

นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

ชาญวิทย์ นาคบุรี
ชาญวิทย์ นาคบุรี

1.คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost จำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท ได้แก่

1.1 โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สัมปทาน

โดย กนอ. จะมอบสิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของโครงการและดำเนินโครงการ ทั้งนี้ เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนในโครงการ ตลอดระยะเวลา ร่วมลงทุน 30 ปี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง

1.2 โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบกมูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน ค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ตลอดระยะเวลาโครงการ 15 ปี เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยให้ไปพิจารณาผลตอบแทนของรัฐอย่างรอบคอบในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการขอรับสิทธิประโยชน์ BOI

2.คณะกรรมการ PPP เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ในเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล รวมถึงแนวทางการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 – 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการจัดทำและดำเนินโครงการครบถ้วน

3. คณะกรรมการ PPP ยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งถัดไป มีโครงการใหญ่ๆ ที่รอเสนอเข้าที่ประชุมอยู่ เช่น โครงการศูนย์การแพทย์ ที่อยู่ระหว่างเตรียมขั้นตอน ได้แก่ โครงการรถไฟเมโมเรียล หาดใหญ่ โครงการรถไฟสายสีม่วง เป็นต้น