สรรพากร เตรียมรีดภาษี “ร้านออนไลน์-ยูทูปเบอร์-ฟรีแลนซ์” เข้าระบบ 5 แสนคน

กรมสรรพากร เล็งดึงร้านค้าออนไลน์ ฟรีแลนซ์ ยูทูปเบอร์ –อินฟลูเอนเซอร์ เข้าระบบภาษี 5 แสนคน พร้อมขยายฐานภาษีนิติบุคคล หวังผู้ประกอบการเข้าระบบให้ครบ 6 แสนคน เน้นเก็บแวตได้ 40% ของรายได้ หนุนเก็บรายได้ตามเป้า 2.085 ล้านล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพากรเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีในปี 2564 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการจัดเก็บภาษีที่  2.085 ล้านล้านบาท โดยกรมจะเร่งขยายฐานการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ เนื่องจากยังมีผู้ที่ยังไม่ได้อยู่ในฐานภาษีอยู่จำนวนมาก

โดยเบื้องต้นสำรวจพบว่ามีผู้อยู่นอกระบบภาษีถึง 6 ล้านคน เช่น ฟรีแล้นซ์ ผู้ มีอิทธิพล (อินฟลูเอนเซอร์) ยูทูบเบอร์ เป็นต้น ดังนั้นในปี 2564 กรมสรรพากรจึงตั้งเป้าดึงผู้ที่อยู่นอกระบบเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีประมาณ 500,000 คน

“ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนจำนวนมากว่า กลุ่มฟรีแล้นซ์ อินฟลูเอนเซอร์ และยูทูบเบอร์ ไม่เข้ามาสู่ระบบการเสียภาษี ดังนั้นกรมสรรพากรจึงเปิดระบบร้องเรียนขึ้นมา โดยจะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลตามที่มีคนแจ้งมาว่าบุคคลนั้นหรือผู้ทำธุรกิจมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยใช้ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ รวมทั้งใช้ในการตรวจสอบการยื่นแบบภาษีที่ซ้ำซ้อนด้วย  ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจทุกคน เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งรอบใหม่คือเดือนมี.ค.2564 ”

ส่วนในปี 2563 มีผู้อยู่ในระบบฐานภาษี 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 250,000 คน โดยจำนวนนี้ถึงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจำนวน 25,000 บาทต่อเดือนที่ต้องยื่นแบบภาษี จำนวน  3.3 ล้านคน และ 6.25 ล้านคนยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

“ปัจจุบันคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์และไม่เข้าใจการเสียภาษี จึงไม่ได้เข้ามาเสียภาษีในระบบอีกมาก เช่น พ่อค้าอายุน้อยที่ขายเคสโทรศัพท์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ที่มีรายได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่เมื่อมีรายได้ถึง 10,000 บาทต่อเดือนควรยื่นแบบชำระภาษีทุกคนเพื่อเข้าสู่ระบบภาษี  แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีก็ตาม”

ส่วนการจัดเก็บรายได้นิติบุคคล กรมมีแผนขยายฐานภาษีกลุ่มธุรกิจเช่นกัน เนื่องจากปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นเสียภาษีเพียง 450,000 ราย ในขณะที่ฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ของกระทรวงพาณิชย์  มีผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนจำนวน 600,000 ราย ดังนั้นในปีนี้จะดึงกลุ่มที่เหลือ 150,000 รายเข้ามาในระบบให้ได้ ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรได้เชื่อมข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไว้แล้ว

พร้อมกันนี้ กรมจะเตรียมแผนในการรักษาฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ซึ่งมีสัดส่วนถึง 40% ของรายได้กรมสรรพากร ให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากการบริโภคสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐอาทิ ช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การเก็บแวตเป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ยอดจัดเก็บภาษีเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบ 2564 สามารถจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย  3,000 ล้านบาท อยู่ที่ 107,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีในปี 2563 จากเดิมจะต้องจ่ายในเดือนมี.ค.2563 ทำให้มีรายได้จากการชำระภาษีเข้ามาในช่วงเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น