พิษโควิด 1.14 ล้านครอบครัวเปราะบาง เสี่ยงถูกจัดเป็น “ครัวเรือนยากจน”

เศรษฐกิจไทย
(File Photo)Mladen ANTONOV / AFP

สศช. เผยภาวะสังคมภายใต้โควิด-19 คนไทยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 33% รายได้ลด 54% หนี้สินในระบบสูงขึ้น 14% หนี้นอกระบบโต 9% พบคนยากจนเมือง 60.24% รายได้ลดทั้งหมด จับตา 1.14 ล้านครอบครัวเปราะบาง เสี่ยงถูกจัดเป็น “ครัวเรือนยากจน”

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์ผลกระทบโควิด-19 ต่อความยากจนของประเทศไทยในปี 2563 ว่า ตั้งแต่ต้นปี 63 เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงและส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)

มีการสำรวจ (23 เม.ย.-17 พ.ค. 2563) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33% ในขณะที่รายได้ลดลง 54 โดยมีหนี้สินในระบบเพิ่มขึ้น 14% และหนี้สินนอกระบบเพิ่มขึ้น 9%

จินางค์กูร โรจนนันต์

ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนยากจน โดยเฉพาะคนยากจนเมือง ประมาณ 60.24% มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมด และประมาณ 31.21% ที่รายได้ลดลงกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้กลุ่มครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่มีประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นครัวเรือนยากจน เป็นกลุ่มที่ควรจะมีมาตรการเข้าไปรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยแยกเป็น 1.กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน มีประมาณ 6.37 แสนครัวเรือน ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ, ครัวเรือนสูงอายุ, ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก

2.กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก มีประมาณ 4.67 แสนครัวเรือน ได้แก่ ครัวเรือนที่ทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เช่น ภาคท่องเที่ยว, อาชีพอิสระ

3.กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินที่ทำกินน้อย ซึ่งมีประมาณ 0.49 แสนครัวเรือน

ทั้งนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบระยะสั้นคือ ชดเชยการขาดรายได้จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานอิสระและเกษตรกร เยียวยา 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนั้นยังมีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค

ระยะปานกลาง มีโครงการฟื้นฟูฯ ช่วยส่งเสริมการจ้างงาน โดยมาตรการหล่านี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันต้องใช้กลไกท้องถิ่นในการค้นหาเป้าหมายและดูแลกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน และเร่งรัดโครงการภาครัฐให้ดำเนินการตามแผนเห็นผลโดยเร็ว 3.มุ่งสร้างงานสร้างอาชีพ

ส่วนการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ปัญหาด้านเกษตรกรทั้งระบบ รวมไปถึงการสร้างหลักประกันทางสังคม อาทิ การเร่งขยายความคุ้มครองประกันตนมาตรา 40 การส่งเสริมการออม และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจะเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูสถานการณ์ความยากจนตั้งแต่ปี 2531-2562 ถือว่ามีทิศทางดีขึ้น โดยมีแนวโน้มสัดส่วนคนยากจนลดลงอย่างมากจากระดับ 65.17% เมื่อปี 31 เหลือ 6.24% ในปี 62 คิดเป็นจำนวน 4.3 ล้านคน หากพิจารณาเป็นระดับครัวเรือนในปี 62 มีครัวเรือนยากจนทั้งสิ้น 1.31 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 5.04% ของครัวเรือนทั้งหมด

โดยพบว่า 1.คนจนมีอัตราพึ่งพิง (จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน) สูงว่าครัวเรือนไม่ยากจน 2.เด็กและเยาวชนมีปัญหาความยากจนมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุและวัยแรงงาน 3.ประเภทครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจน ได้แก่ ครัวเรือนขนาดใหญ่, ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับเด็ก และครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ