ธปท.ชี้หนี้เสียแบงก์ Q3 ขยับเพิ่มอยู่ที่ 3.14% รับโควิดทุบกำไรสุทธิหดตัว 48%

ธปท.ประเมินเอ็นพีแอลไตรมาส 4 มีแนวโน้มขยับแต่ไม่แรง จากไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 3.14% เพิ่มจากไตรมาส 2 อยู่ที่ 3.09% หลังแบงก์สกัดช่วยลูกหนี้ Stage 2 ก่อนไหลเป็นหนี้เสีย ส่งผล Stsge 2 เหลือ 7.03% จาก 7.49% ด้านสินเชื่อคาดทั้งปีโตได้ 3-5% จาก 9 เดือนแรกโตแล้ว 3.9% รับผลประกอบการธนาคารโดนโควิด-19 กระทบฉุดกำไรสุทธิหดตัว 48.4% หลังเร่งตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 23.8% รับหนี้เสียในอนาคต

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ว่า ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสที่ 3 หนี้เสียอยู่ที่ 3.14% ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่หนี้เสียอยู่ที่ 3.09%

สาเหตุที่หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นไม่สูง เนื่องจากผลของมาตรการ ธปท. และมาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน โดยช่วยเหลือลูกค้าตั้งแต่อยู่ในชั้นจับตาเป็นพิเศษ (Stage 2) เพื่อไม่ให้ไหลเป็นเอ็นพีแอล โดยตัวเลข Stage 2 ในไตรมาสที่ 3 ปรับลดลงเหลือ 7.03% จากไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 7.49%

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลในไตรมาสที่ 4 มองระยะข้างหน้าเท่าที่ประเมินทยอยเพิ่มขึ้น แต่คงไม่เยอะ เพราะมีลูกค้าบางกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ยอมรับว่ามีลูกหนี้บางส่วนที่ไม่สามารถติดต่อได้ที่มีประมาณ 6% หรือเม็ดเงิน 5.7 หมื่นล้านบาทไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งจากการสำรวจธนาคารพาณิชย์พบว่ากลุ่มนี้เริ่มทยอยติดต่อได้บ้างแล้ว

ซึ่งอาจจะมีลูกหนี้ที่ไปต่อไม่ไหว ซึ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ทยอยเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เห็นหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นหวือหวา โดยกลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วงจะเป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเพราะสายป่านสั้น และไม่สามารถปรับตัวได้

“ตัวเลขที่ติดต่อไม่ได้ 6% ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 6% จะไหลเป็นเอ็นพีแอลทั้งหมด ซึ่งจากการสอบถามแบงก์พบว่าเริ่มติดต่อได้แล้ว แต่ยอมรับว่าเอ็นพีแอลคงต้องทยอยเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่จะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นหลังจากจบมาตรการพักหนี้ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีลูกค้าราว 60% ที่กลับมาชำระหนี้ได้ปกติแล้ว”

สำหรับภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาสที่ 3อยู่ที่ 4.6% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 5% ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อซอฟต์โลน และมีธุรกิจขนาดใหญ่หันไปออกตราสารหนี้เพื่อนำมาชำระหนี้ธนาคาร และนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน

อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาสที่ 4 การเติบโตสินเชื่อน่าจะดีขึ้น จากภาพรวมสินเชื่อ 9 เดือนแรกพบว่ามีอัตราการเติบโต 3.9% ซึ่งน่าจะขยายตัวสูงกว่าปี 2562 ที่สินเชื่อเติบโตเพียง 2% ส่วนหนึ่งมาจากฐานในปี 2561 ที่ค่อนข้างสูงทำให้ปี 2562 สินเชื่อขยายตัวต่ำ โดยในปีนี้คาดกรอบสินเชื่อน่าจะเติบโตได้อยู่ที่ราว 3-5%

ทั้งนี้ หากดูการเติบโตสินเชื่ออุปโภคบริโภคทรงตัวอยู่ที่ 4.8% เท่ากับไตรมาสที่ 2 โดยสิเนชื่อที่ขยายได้ดีขึ้นจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปรับตามอุปสงค์แนวราบที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาปานกลางและสูง รวมถึงการขายบ้านแบบมีส่วนลดและเร่งระบายสต๊อกของผู้ประกอบการ

ขณะที่บัตรเครดิตขยายตัว 1% ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ติดลบ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งจะทำให้สินเชื่อในไตรมาสที่ 4 ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์ที่ปรับดีขึ้นตามยอดขายรถยนต์ที่เติบโต 2% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอลดลงจาก 7.8% เหลือ 5.6% สอดคล้องกับกำลังซื้อครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ปีนี้ ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ ซึ่งส่งผลให้รายได้ของระบบธนาคารลดลง ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ก็มีการนำกำไรส่วนหนึ่งไปตั้งสำรอง เพื่อป้องกันหนี้ที่อาจด้อยคุณภาพในอนาคต โดยในไตรมาสที่ 3 มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 23.8% ส่งผลให้แนวโน้มกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง 48.4%

อย่างไรก็ตาม จากผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress test) ของ ธปท.ที่ออกมา ธปท.ก็เชื่อว่าเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารมีความแข็งแกร่งทนทานรับผลกระทบโควิด-19 ได้