‘รูดปรื๊ด’ ดิ้นปั๊มยอดใช้จ่าย ระดม ‘แจกพอยต์-แคชแบ็ก-ผ่อน 0%’

ภาพบัตรเครดิต

ช่วงปลายปีมักจะเป็นช่วงที่ธุรกิจบัตรเครดิตจะโหมทำแคมเปญกระตุ้นยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (สเปนดิ้ง) กันเป็นปกติทุกปี

ทว่าปีนี้เป็นปีพิเศษที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้ธุรกิจบัตรเครดิตได้รับผลกระทบไปด้วย

อย่างไรก็ดี หลังรัฐคลายล็อกดาวน์ สินค้าหลายอย่างมีการจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดได้มากขึ้น ธุรกิจบัตรเครดิตก็เริ่มกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ ซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจบัตรเครดิต โดยเฉพาะ “ช้อปดีมีคืน”

โดย “นายอธิศ รุจิรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส (บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน) บอกว่า การแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตจะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี เพราะเป็นช่วงที่จะมีการใช้จ่ายผ่านบัตรมากที่สุด ประกอบกับมีมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่ให้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาท ยิ่งเพิ่มดีกรีการแข่งขันให้ดุเดือด โดยเฉพาะในหมวดค้าปลีก-ช็อปปิ้ง, ออนไลน์ และลดหย่อนภาษีประกัน-กองทุน

“บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน เราจะใช้จุดแข็งในเรื่องของห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล โดยจัดโปรโมชั่นแรง ๆ ล้อไปกับทุกแคมเปญของห้าง ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย.ไปถึง ธ.ค.นี้ คาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จากทั้งปียอดใช้จ่ายจะอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท เติบโตติดลบเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2562 เติบโตค่อนข้างสูง”

Advertisment

“นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร” กรรมการบริหาร บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดหันมาเล่นแคมเปญที่เน้นเจาะกลุ่มเฉพาะ และเน้นจัดโปรฯพิเศษเป็นวัน ๆ ไป เช่น เทศกาล 10.10, 11.11, 12.12 เป็นต้น

จะไม่เห็นแคมเปญใหญ่ ในลักษณะแจกบ้าน แจกรถยนต์ เหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งมาจากความระมัดระวังการใช้จ่ายจากผลกระทบโควิด-19 และวงเงินยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เล็กลง เพราะยอดใช้จ่ายขนาดใหญ่หายไป เช่น หมวดสินค้าแบรนด์เนม หมวดเดินทางต่างประเทศ

“การทำแคมเปญขนาดใหญ่จะไม่คุ้มค่ามากนักในช่วงนี้ จึงเห็นจัดแบบเป็นกลุ่ม ๆ เป็นวัน ๆ ไป โดยสำหรับอิออนจะมีแคมเปญหลัก AEON GIFT ที่จะล้อไปกับมาตรการช้อปดีมีคืน รวมถึงทำแคมเปญแบบ direct marketing เสิร์ฟเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 3 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท โดยจะมีทั้งการให้รีวอร์ด, คะแนนสะสม และเครดิตเงินคืน (แคชแบ็ก) เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 3-4 น่าจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักได้”

ขณะที่ “นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ การเติบโตของสเปนดิ้งในภาพรวมไม่น่าจะหวือหวา เพราะคนยังระมัดระวังการใช้จ่าย จากผลกระทบโควิด-19 โดยธนาคารกสิรกรไทยคาดว่าจะมีสเปนดิ้งรวมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

Advertisment

“ในไตรมาส 4 จะเห็นแต่ละค่ายทยอยออกแคมเปญมาแข่งขันในตลาดมากขึ้น เพื่อกระตุ้นและดึงยอดสเปนดิ้งในช่วงโค้งท้ายปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลจับจ่าย ประกอบกับมีมาตรการช้อปดีมีคืนมาช่วยกระตุ้น โดยแคมเปญที่ทำกันยังคงเห็นการลด แลก แจก แถม การแลกคะแนน และเครดิตเงินคืน (cash back) ในหมวดหลัก ๆ เช่น ประกัน-กองทุน ช็อปปิ้ง ออนไลน์ และร้านอาหาร เป็นต้น”

โดยธนาคารกสิกรไทยจะจัดแคมเปญใน 3-4 หมวดหลัก ได้แก่ หมวดอิงกับมาตรการช้อปดีมีคืน ที่ให้สิทธิ์ 2 ต่อ ต่อแรกลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่นบาท และต่อที่ 2 นำคะแนนสะสม (พอยต์) 3 หมื่นคะแนน แลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 4,500 บาท, หมวดประกัน-กองทุน ซื้อ/ชำระค่าประกัน ได้รับเงินคืนสูงสุด 12% และหมวดออนไลน์ ช็อปปิ้งผ่านร้านค้าพันธมิตรที่ร่วมรายการได้รับคะแนนสะสม 10 เท่า และ 4.โปรโมชั่นเลขคู่ อาทิ 10.10, 11.11 เป็นต้น

“ทุกค่ายจะลงมาแข่งขันดึงยอดใช้จ่ายปลายปี และกระตุ้นหมวดหลัก ๆ คล้ายกัน แต่จะเห็นรุนแรงในหมวดกองทุนและประกัน ซึ่งถือว่าเป็นหมวดที่มีสัดส่วนก้อนใหญ่พอสมควร โดยเฉลี่ยเม็ดเงินต่อรายการจะอยู่หลักหมื่นบาท เมื่อเทียบหมวดออนไลน์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินอาจจะไม่สูง”

ด้าน “นางพิทยา วรปัญญาสกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า เคทีซีไม่ได้ให้โปรฯที่แรงที่สุด แต่จะให้โปรฯแก่ลูกค้าเท่ากันทุกหน้าบัตร และมีเงื่อนไขน้อยที่สุด รวมถึงจัดโปรฯให้ครอบคลุมร้านค้า หรือในหมวดที่ลูกค้านิยมใช้จ่ายมากที่สุด เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และประกันที่มีความร่วมมือกว่า 40 บริษัท

โดยงบฯการตลาดในไตรมาส 4 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเตรียมไว้สำหรับลูกค้าที่นำคะแนนสะสมมาแลกเป็นส่วนลด หรือเครดิตเงินคืน

“ช่วงเดือน พ.ย.นี้จะมีไอโฟนรุ่นใหม่ออกมา ซึ่งช่วยดึงยอดใช้จ่ายได้ และช่วง 12.12 ก็จะมีโปรฯ ซึ่งเคทีซีทำโปรฯต่อเนื่องทั้งก่อนและหลังโควิด ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจะมีให้ใช้คะแนนแลกส่วนลดได้ 20% ได้ทุกหน้าบัตร

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือน ธ.ค. สเปนดิ้งจะปรับดีขึ้นอยู่ที่ราว 2.1-2.2 หมื่นล้านบาท แต่ยังติดลบ หรือลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียอดใช้จ่าย 2.3 หมื่นล้านบาท”

ในภาวะเช่นนี้ บัตรเครดิตแต่ละค่ายก็พยายามจัดแคมเปญ/โปรโมชั่น โดยมุ่งเน้นในหมวดการใช้จ่ายที่สามารถปั๊มยอดได้ และตอบโจทย์การใช้จ่ายของประชาชนในช่วงนี้ เพื่อประคองตัวให้ผ่านพ้นปีแห่งภาวะวิกฤตนี้ไปก่อน