เปิดกรุ “ที่ดินราชพัสดุ” ต่างแดน 150 แปลง แก้กฎหมายขาย-เปลี่ยนมือ

กรมธนารักษ์

คลังถกทรัพย์สินไทยในต่างแดนรับกฎกระทรวงใหม่ ระบุวิธี “ขาย/แลกเปลี่ยน” คลายล็อกที่ดินราชการ 150 แห่งในต่างประเทศ ด้านกรมธนารักษ์ชี้แจงเพื่อความคล่องตัว เผยมี 10 สถานทูตจ่อขายนำรายได้เข้าแผ่นดิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศกฎกระทรวง การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ซึ่งท้ายประกาศระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ว่า เป็นไปตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 บัญญัติให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักร ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าที่ราชพัสดุในต่างประเทศ ส่วนใหญ่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ครอบครอง เพื่อใช้งานเป็นสถานทูต, การพาณิชย์ และกองทัพ อย่างไรก็ดี หากเป็นการเช่าที่ดินจะไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ แต่จะถือเป็นที่ราชพัสดุเมื่อมีการใช้งบประมาณไปจัดซื้อที่ดินดังกล่าวมา

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักรทั้งหมด คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ ว่ามีทั้งหมดกี่ประเทศ กี่แปลง และมูลค่าทั้งสิ้นราคาเท่าไหร่

นายยุทธนากล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ก็ได้มีการประชุมหารือถึงเรื่องที่ราชพัสดุในต่างประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่เนื่องจากข้อมูลที่ได้มายังไม่ครบทุกประเทศ จึงต้องรอรวบรวมผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง

“ข้อมูลที่ได้มายังรวบรวมไม่ครบ จึงได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมมาให้แล้วเสร็จ ว่ายังเหลือที่ราชพัสดุที่ไหน มูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องส่งผ่านเข้ามาทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้” นายยุทธนากล่าว

นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 นั้น ที่ผ่านมามีการดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าของเดิมจะดำเนินการภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ จึงได้นำมติ ครม.ดังกล่าวมาออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งการขายที่ราชพัสดุนอกประเทศนั้น กรมธนารักษ์ไม่สามารถดำเนินการขายเองได้ จะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งจะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรองและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

ทั้งนี้ ที่ราชพัสดุในต่างประเทศนั้น เท่าที่รวบรวมมีอยู่กว่า 150 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ดำเนินการ เช่น สถานทูต แต่ก็จะมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาขอใช้พื้นที่ด้วย, ที่ราชพัสดุใช้เป็นที่ตั้งของพาณิชย์, และที่ทำการของกองทัพ เป็นต้น

“กฎกระทรวงที่ออกมาระบุไว้ว่า ให้สามารถขายหรือแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุในต่างประเทศได้ หรือสามารถเปิดประมูลที่ราชพัสดุได้ด้วย อย่างไรก็ดี ก็ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ด้วย ว่ากำหนดให้ดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งบางประเทศหากไม่ให้มีการซื้อขาย เปิดให้เช่าเพียงอย่างเดียว ก็ต้องเช่า เช่น กรณีของประเทศจีน ลักษณะการใช้ที่ราชพัสดุซื้อขายไม่ได้” นางศุกร์ศิริกล่าวและว่า

แต่การออกกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ได้ออกมาเพื่อมีวัตถุประสงค์การขายเป็นหลัก แต่จะจำหน่ายเมื่อจำเป็น โดยขณะนี้มีหน่วยงานที่มีแผนจะขายที่ราชพัสดุในต่างประเทศอยู่ราว 10 แห่ง ซึ่งเมื่อขายได้ ก็จะเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน

นางศุกร์ศิริกล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีการดำเนินการการขายที่ราชพัสดุในต่างประเทศ เช่น สถานทูตเก่าในประเทศเบลเยียม โดยได้ผ่านมติของคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุนอกราชอาณาจักร และ ครม.ไปแล้ว ซึ่งขายได้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องสัญญา

“วิธีการขายที่ราชพัสดุนอกประเทศ ไม่ใช่ว่าเราอยากได้เงินก็ขาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของที่ตั้งสถานทูตเก่าที่อาจจะมีพื้นที่คับแคบแล้ว ดูแล้วอาจจะไม่สมฐานะ และบังเอิญได้ที่ใหม่ ก็จะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ส่วนที่เก่าไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว จึงจะขาย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้เสนอมาที่คณะกรรมการพิจารณา และหากได้ข้อสรุปแล้วก็ต้องเสนอ ครม.ต่อไป” นางศุกร์ศิริกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ก็มีแนวคิดจัดซื้อที่ดินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นสำนักงานทูตพาณิชย์แทนการเช่า ซึ่งบางประเทศค่าเช่ามีราคาแพง อาทิ สำนักงานผู้แทนการค้าไทย ประจำองค์การการค้าโลก ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสำนักงานที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นต้น เนื่องจากสามารถซื้อที่ดินได้ในราคาถูกลง จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าในปีที่ผ่านมา