กสิกรไทย ชี้ ไทยเผชิญหนี้เสีย-ความสามารถชำระหนี้ลากยาวปี 65

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ ไทยเผชิญความสามารถในการชำระหนี้-เอ็นพีแอลลากยาวปี 64-65 เผยเห็นสัญญาณจำนวนธุรกิจในตลท.มีหนี้สินต่อทุนเกิน 2 เท่า กลุ่มท่องเที่ยว-อสังหาริมทรัพย์-การค้าพุ่ง รับหนี้เสียยังไม่ถึงจุดพีค คาดปี 64 แตะ 3.53% พร้อมประเมินจีดีพีขยายตัวเป็นบวก 2.6% จากปีนี้ -6.7% จับตาวัคซีนโควิด-19 ตัวชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย เชื่อภาครัฐหนุนมาตรการกำลังซื้อ-ว่างงาน อัดงบกระตุ้นต่อ 5 แสนล้านบาท

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจในปี 2564 จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความผันผวน ทำให้ยังมีประเด็นความกังวลในด้านความสามารถในการชำระหนี้ที่จะเห็นต่อเนื่องไปในปี 2564-2565 โดยจากตัวเลขสัดส่วนหนี้เอกชน (หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ) ต่อจีดีพีเร่งตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 165% ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 166.5% ต่อจีดีพีในปี 2564

นอกจากนี้ หากดูสัดส่วนจำนวนกิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)พบว่า บริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงกว่า 2 เท่า มีเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 โดยตัวเลขไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 กลุ่มท่องเที่ยวอยู่ที่ 38.5% จากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 อยู่ที่ 8.3% ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มจาก 23.1% มาอยู่ที่ 31.4% และกลุ่มการค้า-ซื้อมาขายไปเพิ่มขึ้นจาก 9.5% มาอยู่ที่ 21.4% และคาดว่าแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากภาระหนี้สูง ขณะที่รายได้ยังไม่กลับมา

ขณะเดียวกัน แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สถานการณ์จะลากยาวไปอีกถึงปี 2565 เช่นกัน โดยกลุ่มที่เปราะบางยังเป็นกลุ่มที่ยังใช้มาตรการช่วยเหลือ 1 ใน 4 หรือประมาณ 26% โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีมากกว่า 50% ของสินเชื่อรวมรวมที่ยังคงใช้มาตรการความช่วยเหลืออยู่ โดยยังไม่เห็นจุดพีกของเอ็นพีแอล จากไตรมาสที่ 3 ปีนี้อยู่ที่ 3.13% และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 3.35% และคาดว่าในปี 2564 อยู่ที่ 3.53%

“ภาพความสามารถในการชำระหนี้ และเอ็นพีแอลยังคงอยู่กับเราไปอีกในปี 64-65 แม้ว่าเอ็นพีแอลจะปรับสูงขึ้น แต่จะเห็นการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (เงินกองทุน) ของธนาคารพาณิชย์ยังสูงกว่า 1.4-1.5 เท่า ทำให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 16% และจากความไม่แน่นอน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผชิญโจทย์ยากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง โดยมองว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% และเตรียมความพร้อมผ่อนคลายเพิ่มเติม เช่น การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่เหลืออยู่ในระดับ 0.23% และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) อีก 0.25% ซึ่งอาจจะเห็นการลดในไตรมาสที่ 1 ปี 64 กรณีที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามคาด”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 มองว่าจะขยายตัวเป็นบวกอยู่ที่ 2.6% โดยยังมีปัจจัยเรื่องโควิด-19 เป็นตัวกำหนด และวัคซีนยังเป็นสมมติฐานหลักที่มีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยระหว่างทางยังคงมีความผันผวนทั้งการขนส่ง การลำเลียงวัคชีน และการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งจะมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในกรอบ 4.5-7 ล้านคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางด้วย

อย่างไรก็ดี ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 ยังคงเป็นการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ โดยจะยังคงเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของกำลังซื้อและการจ้างงาน เนื่องจากการเปิดประเทศยังค่อยเป็นค่อยไป จึงต้องพึงพาการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจคงไม่สูงเท่าในช่วงล็อกดาวน์ หรือราวประมาณ 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ

“เราคิดว่าภาครัฐมีชุดมาตรการที่อยู่ในไปป์ไลน์ในมือ และสามารถหยิบยกมาตรการมาใช้ได้ตามสถานการณ์ ซึ่งตอนนี้มาตรการกำลังซื้อยังจำเป็นอยู่ เพราะภาพการเปิดประเทศยังไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ทำให้การกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังจำเป็นอยู่ และการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้ดีขึ้น 3% จากที่หดตัวประมาณ 7% โดยจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ หรืออยู่ในกรอบ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.6-1.7 หมื่นล้านเดอลลาร์”