ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวน จับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนในกรอบ จับตาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น หลังผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ ออกคำสั่งล็อคดาวน์อีกครั้งกับสถานที่เสี่ยง เช่น ร้านทำผม สนามเด็กเล่น ส่วนร้านอาหารอนุญาตให้เปิดทำการเฉพาะแบบซื้อกลับบ้าน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 ธันวาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 30.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (4/12) ที่ระดับ 30.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนท่ามกลางความกังวลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6/12) รัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 30,000 รายภายใน หนึ่งวัน ทำให้นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกคำสั่งล็อคดาวน์อีกครั้งกับสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อการติดต่อโรค อาทิ ร้านทำผม และสนามเด็กเล่น สำหรับร้านอาหารอนุญาตให้เปิดทำการเฉพาะแบบซื้อกลับบ้าน เพื่อระงับการแพร่กระจายของโรค

อย่างไรก็ดี นักลงทุนจับตาทิศทางมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ เพื่อฟื้นฟูเศษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4/12) กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐเดือนพฤศจิกายน ออกมาเพิ่มขึ้น 245,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่เพิ่มขึ้น 440,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าสถิติของเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้น 610,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานสหรัฐลดลงสู่ระดับร้อยละ 6.7 ซึ่งสอดคล้องกับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศไทย นักลงทุนยังคงติดตามมาตรการดูแลค่าเงินบาทระยะที่สองของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจัยทางการเมืองและการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.05-30.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดับ 1.2107/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/12) ที่ระดับ 1.2159/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักร เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการเจรจาข้อตกลงการแกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปไม่ราบรื่นอย่างที่คาดการณ์ไว้ และทั้งสองฝ่ายอาจบรรลุข้อตกลงได้ไม่ทันกำหนดเวลาคือวันที่ 31 ธันวาคม 25963

อย่างไรก็ดี ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงฟื้นตัวขึ้นหลังจากสื่อสหราชอาณาจักรเผยว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทำการเจรจาผ่านทางโทรศัพท์กับนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป เพื่อเดินหน้าเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายภายหลังการแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป

โดยนายจอห์นสัน จะเดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เพื่อหารือประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์นี้

Advertisment

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2105-1.2128 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2122/25 ดอลลาร์สหรรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/12) ที่ระดั บ 104.03/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/12) ที่ระดับ 104.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงรักษาระดับและทรงตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (8/12) ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีมวลรวมภายในประเทศ ไตรมาส 3/2563 ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.02-104.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.08/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมันจากสถาบัน ZEW เดือนธันวาคม (8/12), ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป จากสถาบัน ZEW เดือนธันวาคม (8/12), ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป จากสถาบัน ZEW เดือนธันวาคม (8/12), ดัชนีมวลรวมภายในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (8/12),

ดัชนีผลิตภาพนอกภาคการเกษตรสหรัฐ ไตรมาส 3/2563 (8/12), ดุลการค้าเยอรมนี, เดือนตุลาคม (8/12), ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จากสถาบัน JOLTs สหรัฐเดือนตุลาคม (9/12), ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่น เดือนพฤศจิกายน (10/12), ดุลการค้าสหราชอาณาจักร เดือนตุลาคม (10/12), อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (10/12),

ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนพฤศจิกายน (10/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (10/12), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี เดือนพฤศจิกายน (11/12), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนพฤศจิกายน (11/12), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิชิแกน สหรัฐ เดือนธันวาคม (11/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.75/-1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.25/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ