รมว. คลัง เล็งแยกเงิน เบี้ยคนชรา-บำนาญ แก้ปัญหาทวงเงินคืน

รมว.คลัง เตรียมหารือ กรมบัญชีกลาง-อปท. แก้ปัญหาทวงเงินคนแก่ เล็งแยกเงินเบี้ยคนชรา-บำนาญจากญาติเสียชีวิต ชี้คนสูงวัยควรได้เงินของตนเองเมื่ออายุ 60 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการเรียกเงินเบี้ยยังชีพจากคนชรา เนื่องจากเป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญข้าราชการ จะมีการเรียกกรมบัญชีกลาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาหารือร่วมกันว่าเงินในส่วนที่ผู้สูงอายุควรได้เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

ไม่ควรนำมาปะปนกับเงินบำนาญที่เกิดจากการสูญเสียญาติพี่น้อง หรือมรดกตกทอด เนื่องจากเงินผู้สูงอายุถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ผู้สูงวัย ควรได้รับเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกัน หรือรับข้าราชการควรแยกออกจากกันให้ชัดเจน

ส่วนสาเหตุที่มีการเรียกเงินคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน เนื่องจากเป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญข้าราชการนั้น เป็นไปตามกฎหมายที่ระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับบำนาญจากภาครัฐไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะถือว่าเป็นเงินของภาครัฐตามกฎหมาย ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องเข้าไปเจรจาเพื่อขอคืน ซึ่งจะไม่ได้ให้จ่ายเป็นก้อนเดียว แต่จะให้ทยอยคืนเป็นงวด ๆ

นางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดี ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการเรียกเงินเบี้ยยังชีพจาก ว่า กรมบัญชีกลางเป็นเพียงหน่วยงานที่ตอบข้อซักถามจากกระทรวงมหาดไทยว่าบุคคลที่มีรายชื่อที่ส่งมานั้น เป็นบุคคลที่มีสิทธิรับเงินบำนาญหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมากรมฯได้ตอบข้อซักถามไปเพียง 1 รายเท่านั้น ทั้งนี้ หนึ่งในเงื่อนไขการรับเงินเบี้ยยังชีพคนชรา คือ จะต้องไม่เป็นบุคคลที่รับเงินบำนาญด้วย

“เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า มีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญไปพร้อม ๆ กัน ในทางปฏิบัติแล้วบุคคลนั้นๆ จะต้องคืนเงินเบี้ยยังชีพ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับคนชรานั้นๆ จะทำหน้าที่เรียกเงินคืน ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียกเงินคืนได้แล้ว จะมีหน้าที่นำเงินดังกล่าวส่งคืนเข้าคลังหลวง เพราะถือเป็นเงินของแผ่นดิน”