นักลงทุนแห่เทรดDWคึกคัก จับจังหวะตลาดหุ้นผันผวน

เทรด DW

ตลาดหุ้นผันผวนนักลงทุนเทรด DW เก็งกำไรคึกคัก “บล.เคจีไอ” เผยวอลุ่มปี”63 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10% ขณะที่ปริมาณซื้อขายสูงสุดรอบ 11 ปี ต้นปีนี้สบช่องออก DW อ้างอิงหุ้นฮอต “DELTA” เอาใจนักลงทุนสายซิ่ง หลังราคาหุ้นผันผวนต่อเนื่อง ฟาก “บล.บัวหลวง” ส่ง DW “ซีรีส์ T” ต่อเนื่อง หลังนักลงทุนตอบรับล้นหลาม มูลค่าเทรดต่อวันพุ่งกว่า 300%

นายเจนวิทย์ ชินกุลกิจนิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI เปิดเผยว่า ในภาวะที่ตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน ทำให้การซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) จะคึกคักตามไปด้วย โดยในปี 2563 มีการซื้อขาย DW กันมากขึ้นตามทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่มีการแกว่งตัวค่อนข้างแรง ซึ่งนักลงทุนมีโอกาสซื้อขายทำกำไรได้ทั้งในยามที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นและขาลง

ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายของ DW ทั้งอุตสาหกรรม ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2562 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 6,804.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10% จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวน DW ที่จดทะเบียนทั้งหมดปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,931 ตัว ลดลง 7.8%

“ปริมาณการซื้อขาย DW ในปี 2563 สูงที่สุดในรอบ 11 ปี สอดคล้องกับวอลุ่มการซื้อขายของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET index) เพราะปัจจุบันปริมาณการซื้อขาย DW คิดเป็นสัดส่วน 11% ของปริมาณการซื้อขาย SET ทั้งหมด”

สำหรับปี 2564 ทาง KGI จะออก DW ใหม่ต่อเนื่องให้ครอบคลุมหลักทรัพย์อ้างอิงที่นักลงทุนสนใจลงทุนให้ได้มากที่สุด ล่าสุดเพิ่งออก “DELT13C2104A” อ้างอิงหุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายเก็งกำไรค่อนข้างสูงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 โดย DW ดังกล่าวเริ่มเทรดตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. และจะครบกำหนดอายุในวันที่ 16 เม.ย. 2564

Advertisment

“ปรากฏการณ์ของหุ้น DELTA ส่งผลให้ DW ที่อ้างอิงหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สะท้อนจากในเดือน ม.ค. 2564 พบว่า DW ที่อ้างอิงหุ้น DELTA และหุ้นตัวอื่น ๆ ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ (HANA) มีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างสูง ซึ่งปกติแล้ว DW ที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 จะเป็นตัวที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากซื้อขายเก็งกำไรได้ง่ายกว่า” นายเจนวิทย์กล่าว

นายอรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์ หัวหน้าฝ่ายStructured Products บล.บัวหลวงกล่าวว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้ว่าภาพรวมDW ทั้งปีปริมาณการซื้อขายจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 รอบแรกช่วงเดือน มี.ค. 2563 ตลาดหุ้นผันผวนรุนแรง นักลงทุนจึงชะลอการซื้อ ทั้งหุ้นสามัญและ DW อย่างไรก็ดี หลังสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงไตรมาส 4 จึงเห็นปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท/เดือน

ทั้งนี้ DW ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) วอลุ่มการซื้อขายรวมทั้งปีประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) 3.5 หมื่นล้านบาท และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) 3.3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ช่วงต้นปีนี้ แม้ว่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมจะหันมาออก DW อ้างอิงหุ้น DELTA มากขึ้น แต่ปริมาณการซื้อขายยังค่อนข้างน้อย โดย DW ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงติดอันดับในเดือน ม.ค. 2564 ได้แก่ บมจ.บัตรกรุงไทย(KTC) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ GPSC รวมถึง DW ที่อ้างอิงดัชนี SET50 ยังได้รับความนิยมสูงสุดเช่นเคย

Advertisment

โดยมีปริมาณการซื้อขายประมาณ 1.06 แสนล้านบาท คิดเป็น 60% เมื่อเปรียบเทียบกับ DW อ้างอิงหุ้นรายตัวที่มีปริมาณซื้อขายราว 7.5 หมื่นล้านบาท

“ปีนี้ บล.บัวหลวงจะเสนอขาย DW “ซีรีส์ T” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มีค่าเสื่อมเวลาต่ำกว่า DW ทั่วไป เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หลังจากที่บริษัทออกและเสนอขายครั้งแรกเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2563 นักลงทุนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม สะท้อนจากมูลค่าเทรดต่อวันปรับตัวสูงขึ้นกว่า 300% และยอดถือครองขยายตัวกว่า 40 เท่า ภายใน 2 เดือน” นายอรรถนันต์กล่าว